7 ข้อเสนอนโยบายจาก ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ยกระดับสิทธิผู้บริโภค เข้าถึงสินค้า-บริการคุณภาพและเป็นธรรม

วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ตรงกับ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day 2025)  สำหรับประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคกว่า 340 องค์กร จัดกิจกรรมภายใต้ประเด็น “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” (A Just Transition to Sustainable Lifestyles) เพื่อผลักดันคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการมีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ และได้รับความเป็นธรรมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทวีความรุนแรง ในโอกาสนี้ ได้มีการนำเสนอ 7 นโยบายสำคัญเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นธรรม สร้างหลักประกันให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ข้อเรียกร้องนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 ข้อที่ภาคีเครือข่ายผู้บริโภคร่วมกันเสนอ (โดยสรุป) ดังนี้ 

  1. เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคผลักดัน พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือ กฎหมายเลม่อนลอว์ (Lemon Law) ให้ผู้บริโภคสามารถซ่อม เปลี่ยนสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้สภาผู้บริโภคเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างคณะกรรมการ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ 
  2. เสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้านำเข้าทุกประเภทให้มีความปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป 
  3. เสนอให้ภาครัฐเป็นกลไกสำคัญให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ไม่กระจุกเฉพาะบางพื้นที่ มีการสนับสนุนผู้บริโภคในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงช่วยผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยช่วยลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องอุปกรณ์ราคาถูก วัสดุสะอาดปลอดภัย เพื่อให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ สะอาด เเละยั่งยืน
  4. เรียกร้องให้รัฐช่วยผลักดัน พระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความชำรุด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
  5. เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนนโยบายขนส่งสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นธรรม ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเข้ามามีส่วนร่วม อีกด้านหนึ่งในเรื่องนโยบายที่อยู่อาศัย ต้องการให้รัฐกำหนดพื้นที่สร้างบ้านราคาถูกได้มาตรฐาน พร้อมจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเรื่องที่อยู่อาศัยถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ
  6. ขอให้เร่งดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบไร้สายเข้ามาปรับปรุงแก้ไข ลดปัญหาสายรกรุงรัง เพื่อความปลอดภัยในการสัญจร
  7. เสนอให้มีการพัฒนาเรื่องอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพตู้น้ำให้ได้มาตรฐาน พร้อมมีสถานที่ติดตั้งที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค

อย่างไรก็ดีข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 7 ข้อจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ต้องอาศัยทั้งกลไกการทำงานของภาครัฐและการปรับปรุงกฎหมายร่วมด้วย โดยนโยบายเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาและผลกระทบที่ผู้บริโภคต้องเผชิญโดยตรง ซึ่งหากต้องการยกระดับสิทธิของผู้บริโภคให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง พร้อมสนับสนุนแนวทางที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ชีวิตที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและมุ่งจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่เพียงพอ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี พ.ศ. 2573
– (11.2) จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้พัฒนาความปลอดภัยทางถนน ขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบระยะ 10 ปีของแผนงานว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ทุกประเทศนำไปปฏิบัติโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: 
ปักธง! วันสิทธิผู้บริโภคสากล 68 ชง 7 นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ยั่งยืนและเป็นธรรม (สภาองค์กรของผู้บริโภค)
ข้อเสนอการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมทุกคนขึ้นได้ (สภาองค์กรของผู้บริโภค)
เร่งรัฐผลักดันเลมอน ลอว์ (Lemon Law) หวังคุ้มครองผู้บริโภค – ยกระดับสินค้า  (สภาองค์กรของผู้บริโภค)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น