เนื่องในวันแห่งความสุขสากล (International Day of Happiness) ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ได้เผยแพร่ รายงานความสุขโลกประจำปี 2025 (World Happiness Report 2025) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) และพันธมิตร โดยใช้ข้อมูลจาก Gallup World Poll และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ พบปีนี้ฟินแลนด์ครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกต่อเนื่องกว่า 8 ปีซ้อน ขณะที่ไทยขยับขึ้นมา 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 49 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 6.22 คะแนน ถือเป็นประเทศที่มีพัฒนาการอันดับสูงที่สุดในเอเชีย
SDG Updates ฉบับนี้ ชวนสำรวจสถานการณ์เเละภาพรวมดัชนีความสุขของโลก ฉายภาพอันดับ จุดเเข็ง เเละข้อกังวลต่อความสุขของประเทศไทย พร้อมทั้งเปรียบเทียบพัฒนาการเเละความเเตกต่างของประเทศอาเซียน
00 – ข้อควรทราบก่อนอ่านรายงาน
เกณฑ์การจัดอันดับความสุขในรายงานความสุขโลก 2025 (World Happiness Report 2025) ใช้ 6 ปัจจัยหลัก (six key factors) ในการประเมินระดับความสุขของประชากรแต่ละประเทศ ซึ่งได้มาจากแบบสำรวจ Gallup World Poll และข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ
6 ปัจจัยหลักของรายงานความสุขโลก 2025
- การสนับสนุนทางสังคม (Social Support) – การมีคนที่สามารถพึ่งพาได้ในยามลำบาก
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) – รายได้เฉลี่ยของประชากรสะท้อนคุณภาพชีวิต
- อายุขัยเฉลี่ยที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Life Expectancy) – ระยะเวลาที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี
- เสรีภาพในการเลือกชีวิต (Freedom to Make Life Choices) – ความสามารถในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของชีวิต
- ความเอื้ออาทร (Generosity) – ความถี่และขนาดของการให้และการช่วยเหลือผู้อื่น
- การรับรู้การทุจริต (Perceptions of Corruption) – ระดับความไว้วางใจต่อรัฐบาลและภาคธุรกิจ
วิธีคำนวณคะแนน
- คะแนนความสุข (Happiness Score) คำนวณจาก ค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ประชาชนให้แก่คุณภาพชีวิตของตนเอง บน สเกล 0-10 โดยอิงจาก Cantril Ladder (Cantril’s Self-Anchoring Scale)
- คะแนนแต่ละประเทศเป็นค่าเฉลี่ยจากช่วงเวลา 3 ปี (Three-Year Average) เพื่อให้ได้ค่าที่เสถียรและสะท้อนแนวโน้มที่แท้จริง
- ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,000 คนต่อประเทศต่อปี (1,000 respondents per country per year)
01 – ภาพรวมระดับโลก: ประเทศจากยุโรปยังคงครอง Top 5 ส่วนสหรัฐฯ อันดับร่วงต่ำสุดในประวัติการณ์

หมายเหตุ: พื้นที่สีขาวแสดงถึงประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมการจัดอันดับ
การจัดอันดับดัชนีความสุขโลก ประจำปี 2025 จากการสำรวจทั้งหมด 147 ประเทศพบว่า 5 ประเทศที่มีความสุขมสูงสุด คือ ประเทศฟินแลนด์ ที่ยังคงครองตำแหน่งประเทศที่มีความสุขที่สุดเป็น อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.74 จากคะเเนนเต็ม 10 โดยประเทศที่ติด Top 5 ล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งรองลงมาได้อันดับสองคือเดนมาร์ก (คะแนนเฉลี่ย 7.52) ตามด้วยไอซ์แลนด์ (คะแนนเฉลี่ย 7.51) สวีเดน (คะแนนเฉลี่ย 7.34) เเละเนเธอร์เเลนด์ (คะเเนนเฉลี่ย 7.31)
ขณะที่ 5 อันดับประเทศที่มีคะแนนความสุขรั้งท้าย ได้แก่ประเทศอัฟกานิสถานรั้งท้ายอันดับที่ 147 เป็นประเทศที่มีความสุขต่ำที่สุดในโลก (คะแนนเฉลี่ย 1.36) โดยคะแนนเฉลี่ยความสุขของผู้หญิง (women’s average happiness score) นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากทำคะแนนได้เพียง 1.16 คะแนนสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำของผู้หญิงในประเทศนี้ ส่วนอีก 4 ประเทศที่มีคะเเนนรั้งท้ายอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับความสุขต่ำที่สุดในโลก (lowest-ranking countries in happiness) ได้เเก่ เซียร์ราลีโอน (คะเเนนเฉลี่ย 3.00) เลบานอน (คะเเนนเฉลี่ย 3.19) มาลาวี (คะเเนนเฉลี่ย 3.26) และ ซิมบับเว (คะเเนนเฉลี่ย 3.40) ตามลำดับ
นอกจากนี้รายงานระบุว่าประเทศที่มีพัฒนาการด้านความสุขมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ คอสตาริกา (อันดับ 6) และเม็กซิโก (อันดับ 10) ซึ่งสามารถขยับเข้ามาอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกได้เป็นครั้งแรก สะท้อนถึงแนวโน้มการพัฒนาเชิงบวกในประเทศที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคม นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่การเผยแพร่รายงานฉบับแรกในปี 2012 เซอร์เบีย บัลแกเรีย และจอร์เจีย เป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านระดับความสุขมากที่สุด โดยมีคะแนนความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีอีกหลายประเทศที่ความสุขของผู้คนมีเเนวโน้มที่น่ากังวล โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ร่วงสู่อันดับที่ 24 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ จากที่เคยอยู่ในอันดับ 11 ในปี 2012 ขณะที่ ยุโรป เผชิญกับ ความเหลื่อมล้ำทางความสุขภายในประเทศ (within-country inequality of happiness) ที่เพิ่มขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ (between-country differences) จะยังค่อนข้างคงที่
ในกลุ่มแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ระดับความสุขยังคงอยู่ในระดับต่ำจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic instability) ความขัดแย้งทางการเมือง (political conflicts) และความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ (cliimate uncertainty) ขณะที่ หลายประเทศในตะวันออกกลาง (Middle East) ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านเสถียรภาพทางสังคม (social stability) และความไว้วางใจในรัฐบาล (trust in governance) โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังพบว่าในภาพรวมระดับโลก ความเชื่อมั่นทางสังคม (social trust) ลดลง และ อัตราการเสียชีวิตจากความสิ้นหวัง (deaths of despair) ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้ว่าการศึกษาพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากความสิ้นหวังลดลงเฉลี่ย 5 รายต่อ 100,000 คน ตั้งแต่ปี 2000-2019 ใน 59 ประเทศ แต่แนวโน้มในบางพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะใน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตาย (suicide rate) สูงในกลุ่มวัยทำงาน รวมถึง สหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้ม ความเครียดทางสังคม (social stress) เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อ ความไม่พอใจทางสังคมและการเมือง (social and political dissatisfaction)
ข้อค้นพบอื่น ๆ จากภาพรวมระดับโลก เช่น
- วัยหนุ่มสาวทั่วโลกกว่า 19% ระบุว่าไม่มีใครให้พึ่งพิงทางสังคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่า 39% จากปี 2006
- คนทั่วโลกประเมินความเมตตาการุณย์ของคนในสังคมต่ำกว่าความเป็นจริง โดยหากพิจารณาจากอัตราการส่งคืนกระเป๋าเงิน (wallet) ที่สูญหาย พบว่าสูงกว่าที่ผู้คนคาดคิดถึงสองเท่า
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมกันเเตกต่างอย่างชัดเจนในเเต่ละประเทศ เเละเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสุขใกล้เคียงกับปัจจัยเรื่องรายได้เเละการว่างงาน
- ขนาดของครอบครัวมีความเชื่อมโยงกับระดับความสุข โดยในเม็กซิโกเเละยุโรป พบว่าครอบครัวที่มีสมาชิก 4-5 คน มักมีความสุขสูงที่สุด อย่างไรก็ดีสำหรับยุโรปนั้นน่ากังวลเพราะคนจำนวนมากยังคงอาศัยลำพัง
- ความสัมพันธ์ทางสังคมมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของวัยรุ่น โดยช่วยปกป้องจากความเครียดที่เป็นพิษ (toxic effects of stress)
02 – ภาพรวมดัชนีความสุขของ ‘อาเซียน’ และ ‘ประเทศไทย’
9 อันดับประเทศที่มีดัชนีความสุขสูงสุดในอาเซียน
ภาพรวมดัชนีความสุขของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อาเซียน’ มีความใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ Top 3 โดยอันดับ 1 คือ ประเทศสิงคโปร์ (อันดับ 34) ซึ่งอันดับตกลงจากปีที่แล้วมา 4 อันดับ ตามมาด้วยเวียดนาม (อันดับ 46) ไทย (อันดับ 49) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 57) มาเลเซีย (อันดับ 64) อินโดนีเซีย (อันดับ 83) ลาว (อันดับ 93) กัมพูชา (อันดับ 124) และเมียนมา (อันดับ 126) ขณะที่บรูไนดารุซซาลามไม่ได้ร่วมการจัดอันดับดัชนีความสุข อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับปี 2024 พบว่ามีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่มีอันดับก้าวหน้าขึ้นคือ เวียดนาม ไทย และลาว ขณะที่อีก 6 ประเทศมีอันดับถดถอยลง ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และกัมพูชา
อาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไนดารุซซาลาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความสุขของเอเชียตะวันออกประเทศอื่น ๆ เช่น ไต้หวัน (อันดับ 27) ได้รับการจัดอันดับว่ามีความสุขสูงสุดในเอเชียตะวันออก ตามมาด้วยฮ่องกง (อันดับ 42) ญี่ปุ่น (อันดับ 55) ซึ่งคะแนนต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) เกาหลีใต้ (อันดับ 58) เเละ จีน (อันดับ 68)
ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยก้าวกระโดดในอันดับดัชนีความสุข
ดัชนีความสุขประจำปี 2025 จากการประเมินผลคะแนนปัจจัยสำคัญ 6 ประการ มีคะแนนมุมมองแต่ละด้าน ดังนี้ มุมมองต่อการทุจริตอยู่ที่ 0.04 เป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดจากทุกด้าน ส่วนคะแนนด้านเสรีภาพที่ 0.93 คะแนน มุมมองต่อการสนับสนุนทางสังคม 1.55 คะแนน (เพิ่มขึ้น) อายุขัยคาดเฉลี่ย 0.63 คะแนน ความเอื้ออาทร 0.22 คะแนน และ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) 1.43 คะแนน
เมื่อเทียบกับปี 2024 ประเทศไทยคะแนนลดลงใน 3 ด้าน คือ ด้านอายุขัยคาดเฉลี่ย ลดลง 0.833 คะแนน ความเอื้ออาทร ลดลง 0.063 คะแนน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) ลดลง 0.054 คะแนน
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีคะแนนด้านการสนับสนุนทางสังคมติดอันดับ 8 ของโลก ซึ่งสะท้อนถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของคนไทยที่ยังคงให้ความช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะในระดับครอบครัวและชุมชน ขณะที่ด้านเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว อยู่ที่อันดับ 81 ของโลก แต่แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาได้ดีขึ้น ทำให้การรับรู้ถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันปัจจัยที่คะแนนตกต่ำ ได้แก่ ด้านเสรีภาพในการเลือกชีวิต ซึ่งอยู่ที่อันดับ 121 โดยสะท้อนถึงข้อกังวลสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพที่ยังถูกจำกัด และปัญหาด้านทุจริตที่อยู่ในอันดับ 83 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาด้านเสรีภาพและธรรมภิบาลที่ไม่โปร่งใสอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของผู้คนทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความไว้วางใจในระบบ พร้อมช่วยสะท้อนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขในแต่ละประเทศทั่วโลก
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี, เเพรวพรรณ ศิริเลิศ เเละ อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
● เข้าถึงรายงาน รายงานความสุขโลกประจำปี 2025 ได้ที่ World Happiness Report 2025
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– World Happiness Report 2024 ไทยขยับขึ้นอันดับที่ 58 ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุด’ – ฟินแลนด์ครองที่หนึ่ง เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน
– ไทยขยับขึ้นอันดับที่ 60 จากการจัดอันดับของ World Happiness Report 2023 ฟินแลนด์ยังคงครองที่ 1 ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุด’ 6 ปีซ้อน
– ไทยได้อันดับ 61 จาก World Happiness Report 2022 ฟินแลนด์ครองที่หนึ่งประเทศที่มีความสุขที่สุด 5 ปีซ้อน
– Global Gender Gap Report 2023 ชี้อีก 131 ปี กว่าโลกจะมีความเท่าเทียมทางเพศ – ส่วนไทยติดอันดับที่ 74 ในการประเมินดัชนี
– SDG Updates: ‘พิษ-แพร่-พัง’ หายนะจากสงครามต่อการล่มสลายของระบบสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ
Last Updated on มีนาคม 21, 2025