การประชุมระดับโลก ‘SEforALL’ ระดมทุน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเข้าถึงพลังงานที่เป็นธรรม

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) ได้จัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ประจำปี 2568 (SEforALL Global Forum 2025) มุ่งเน้นสำรวจแนวทางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ทั้งนี้การประชุมยังสนับสนุนการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความยากจนทางพลังงาน และเปิดโอกาสในการพัฒนาให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก พร้อมทั้งมีการประกาศข้อตกลงครั้งสำคัญเพื่อขยายการเข้าถึงพลังงานและเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยมีมูลค่ารวมกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  (หรือประมาณ 30,807 ล้านบาท)

การประชุม SEforALL Global Forum ครั้งที่ 6 จัดขึ้น ณ เมืองบริดจ์ทาวน์ ประเทศบาร์เบโดส ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 13 มีนาคม 2568 โดยได้รวบรวมตัวแทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจและการเงิน เยาวชน และภาคประชาสังคมจากทั่วโลก นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นเป้าหมายหลักไปที่การรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลก เพื่อยกระดับการหารือด้านพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนา พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและภาคส่วนต่าง ๆ ผลักดันการปฏิรูประบบการเงินโลก กระตุ้นนวัตกรรมในภาคพลังงาน และสนับสนุนข้อตกลงในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South)

ข้อตกลงครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ อาทิ

  • สำนักงานการลงทุนแห่งชาติไนจีเรีย (NSIA) SEforALL พันธมิตรพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศ (International Solar Alliance: ISA) และ Africa50 แพลตฟอร์มการลงทุนที่มุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้ประกาศกองทุนพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ (Distributed Renewable Energy :DRE) ที่มีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17,055 ล้านบาท) กองทุนนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน การพัฒนาและจัดหาเงินทุนให้กับโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (mini-grids) ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อบ้านพักอาศัย (Solar Home Systems) ระบบพลังงานที่ตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หรือโซลูชันพลังงานสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ใช้ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นขยายการเข้าถึงพลังงานสะอาดและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในไนจีเรีย
  • สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับสำนักงานบริการโครงการแห่งสหประชาชาติ (UNOPS) และ SEforALL ได้ให้คำมั่นในการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 682 ล้านบาท) ผ่านกองทุน Universal Energy Facility (UEF) ในรูปแบบการจัดสรรเงินทุนตามผลลัพธ์ (Results-Based Financing) เงินทุนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กและขยายการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าให้กับครัวเรือนในพื้นที่ชนบทของสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน
  • มูลนิธิอิเกีย (IKEA Foundation) ได้ให้คำมั่นสนับสนุนเงินทุนกว่า 11 ล้านยูโร (ประมาณ 421 ล้านบาท) ​ แก่โครงการ ZE-Gen ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งทดแทนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา เอเชียใต้ และอินโด-แปซิฟิก

นอกจากนี้ Amina J. Mohammed รองเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Deputy Secretary-General) กล่าวว่า SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนา เธอเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการดำเนินการร่วมกันอย่างกล้าหาญ พร้อมเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุม เปลี่ยนหลักการสำคัญด้านความร่วมมือ ความคิดสร้างสรรค์ และความสอดคล้องเชิงนโยบายให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้จริง

อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความสำคัญในการเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและ พร้อมทั้งการระดมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อเร่งการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางสถาบันและความเชี่ยวชาญ และเสริมสร้างความยืดหยุ่น การปรับตัว และนวัตกรรมในทุกระดับ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน อาจฉุดรั้งความก้าวหน้าการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
มีเพียง 15 ประเทศส่งความก้าวหน้า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ ปี 2578 แก่ UNFCCC ขณะ 180 ประเทศเร่งส่งก่อนประชุม COP30
SDG Updates | การพัฒนาที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร – ให้ SDGs ช่วยเป็นคำตอบ (EP.5) 
SDG Updates | การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในกรอบของ COP และ SDGs – ประเทศไทยทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง? (EP.14) 
What is Just Energy Transition ? – Recap ภาพรวมการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทย 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
– (9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี พ.ศ. 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนา ต่อประชากร 1 ล้านคน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐและเอกชน
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา: Global Forum Mobilizes USD 900 Million for Energy Access, Energy Transition (SIID)

Last Updated on เมษายน 1, 2025

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น