SDG Move เปิดเวทีฉายภาพ SDG Index ระดับภาคกลาง พร้อมชวนคิดใช้ “วิทย์-วิจัย-นวัตกรรม” เติมเต็มช่องว่างการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันที่ 25 มีนาคม​ 2568  ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะทำงานระดับภาคกลาง ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคกลาง) ” ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

การประชุมข้างต้นจัดขึ้นภายใต้โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ปีที่ 3 หรือ “Area Need 3” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) อย่างมีส่วนร่วม ผ่านการขับเคลื่อนของกลไก (ววน.) ระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ช่วงต้นของการประชุม รศ. ดร.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวต้อนรับและนำเสนอบทบาทของมหาวิทยาลัยศิลปากรในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ศูนย์กลางองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ 2) การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและตระหนักถึงความยั่งยืน และ 3) การทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนานโยบายและโครงการที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ โดยมีตัวอย่างโครงการและกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น ระบบหน่วยกิต “SU4Life” มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามรถเข้าศึกษาหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรการอบรมได้ฟรี โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือพื้นฐานทางการศึกษา และ โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชุมชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้เข้าถึงได้มากขึ้น 

ต่อจากนั้น ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก SDG Index ระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค โดยชี้ว่าภาคกลางมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 3 เป้าหมาย ได้เเก่ SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และหากพิจารณากลุ่มที่เฉพาะขึ้น พบว่า กลุ่มจังหวัดปริมณฑล มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน 5 ประเด็น ได้แก่ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG 6 น้ำสะอาดและการสสุขาภิบาล SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล ด้านกลุ่มภาคกลางตอนบน มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน เช่น SDG 2 ยุติความหิวโหย และ SDG 5 ความเท่าเทียมททางเพศ ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน เช่น SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ช่วงครึ่งหลังของการประชุม อาจารย์นันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำกระบวนการทบทวนและรับฟังประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคกลาง โดยพบว่าประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนเห็นว่าควรเร่งรัดแก้ปัญหาหรือพัฒนา เช่น การยกระดับภาคเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพและรายได้ที่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงการแก้ปัญหาการศึกษาให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและมีความครอบคลุมเข้าถึงได้ 

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะภาคีที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดการประชุมปฏิบัติการข้างต้นด้วย

สำหรับเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับสถานการณ์ความท้าทายและความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ จะมีการติดตามความคิดเห็นจากทั้งหมด 6 ภูมิภาค เพื่อนำข้อมูลและข้อคิดเห็นมาพัฒนากลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณในอนาคต 

ทำความเข้าใจโครงการ Area Need ได้จาก “ ทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3” ที่ Policy Brief | บทสรุปนโยบายที่ต้องการระดับพื้นที่จาก Area Need ปีที่ 2 และทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3 

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

Last Updated on เมษายน 8, 2025

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น