หน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้หญิงมีแนวโน้มรอดชีวิตจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรสูงกว่าที่ผ่านมา โดยอัตราการเสียชีวิตของมารดาทั่วโลกลดลงถึง 40% ระหว่างปี 2543 ถึง 2566 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้เตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการหยุกชะงักครั้งใหญ่จากความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น เนื่องจากการตัดงบประมาณความช่วยเหลือจากนานาประเทศที่กำลังส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างในทั่วโลก
รายงานเรื่อง “แนวโน้มการเสียชีวิตของมารดา” (Trends in Maternal Mortality) ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 7 เมษายน เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าในการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาทั่วโลกได้ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2559 โดยในปี 2566 มีผู้หญิงราว 260,000 คนเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร คิดเป็นการเสียชีวิตของมารดา 1 คนในทุก ๆ 2 นาที
รายงานระบุถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อการรอดชีวิตของมารดา โดยปี 2564 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 คน จาก 282,000 คนในปี 2563 เป็น 322,000 คน การเพิ่มขึ้นนี้ไม่เพียงเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุมาจากการหยุดชะงักของบริการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาบริการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงการระบาดใหญ่หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ โดยเฉพาะการที่หญิงตั้งครรภ์ต้องสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานและเชื่อถือได้ ซึ่งสามารถดูแลฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ระหว่างภูมิภาคและประเทศต่าง ๆ และความก้าวหน้าที่ไม่เท่าเทียมกัน แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตของมารดาทั่วโลกลดลงระหว่างปี 2543 ถึง 2566 ถึง 40% แต่มีเพียง 3 ภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเอเชียกลางกับเอเชียใต้ที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้หลังปี 2558 และถึงแม้แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) จะมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัญหาความยากจนและความขัดแย้งภายในภูมิภาคยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยปี 2566 ภูมิภาคนี้ยังคงมีการเสียชีวิตของมารดามากถึง 70% ของจำนวนทั้งหมดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม รายงานสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก โดยเกือบ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตของมารดาทั่วโลกเกิดขึ้นในประเทศที่เผชิญกับความเปราะบางหรือความขัดแย้ง สำหรับผู้หญิงในบริบทเหล่านี้ ซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิตถือว่าสูงมาก ตัวอย่างเช่น เด็กหญิงอายุ 15 ปีมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ถึง 1 ใน 51 ซึ่งเมื่อเทียบกับความเสี่ยง 1 ใน 593 ในประเทศที่มีเสถียรภาพมากกว่า โดยประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ชาดและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง 1 ใน 24 ตามด้วยไนจีเรีย 1 ใน 25 โซมาเลีย 1 ใน 30 และอัฟกานิสถาน 1 ใน 40
ท้ายที่สุด รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาที่การตัดงบประมาณด้านมนุษยธรรมกำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นในหลายภูมิภาคทั่วโลก หลายประเทศจำเป็นต้องลดหรือยุติบริการที่สำคัญต่อสุขภาพของมารดา ทารก และเด็ก นอกจากนี้ การลดงบประมาณยังนำไปสู่การปิดสถานพยาบาลและการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของมารดายังคงสูงในบางพื้นที่
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– การขาดแคลน ‘พยาบาลผดุงครรภ์’ ทำให้สูญเสียชีวิตมารดาและทารกแรกเกิด
– การตายของมารดาในเนปาลเพิ่มขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้หญิงตั้งครรภ์พลาดการตรวจสุขภาพและเลือกคลอดที่บ้าน
– Global Midwives’ Hub แหล่งรวมทรัพยากรเพื่อส่งเสริมการบริการสุขภาพที่มีพยาบาลผดุงครรภ์เป็นผู้นำ
– เด็กก่อนอายุ 5 ขวบในประเทศยากจนที่สุด 1/10 คนเสี่ยงตายก่อนวัยอันควร ส่วนเด็กในประเทศร่ำรวยมีอัตรารอดชีวิตสูงถึง 99.8%
– 7 เมษายน วันอนามัยโลก – จัดการความไม่เท่าเทียม เพื่อ “สร้างโลกที่เป็นธรรมและสุขภาพดียิ่งขึ้น” ให้ทุกคน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 คน ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ และการบูรณาการอนามัยการเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
Last Updated on เมษายน 8, 2025