วันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา คณะทำงานระดับภาคตะวันออก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคตะวันออก) ” ณ ศูนย์ปฏิบัติการโรงเเรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี การประชุมข้างต้นจัดขึ้นภายใต้โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ปีที่ 3 หรือ “Area Need 3” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) อย่างมีส่วนร่วม ผ่านการขับเคลื่อนของกลไก (ววน.) ระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในช่วงต้นของการประชุม ผศ. ดร.สวามินี ธีระวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย มหาวิทยาลัยบูรพา ได้กล่าวต้อนรับและเปิดงาน พร้อมร่วมนำเสนอบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานตั้งแต่ระดับหลักสูตรระยะสั้น ตลอดจนการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรและระบบการศึกษา โดยมุ่งผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและทักษะสอดรับกับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในสังคมและชุมชนในภาคตะวันออก ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันความยั่งยืนในทุกมิติ
ต่อจากนั้น ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก SDG Index ระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค โดยชี้ว่าภาคตะวันออกมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 5 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ช่วงครึ่งหลังของการประชุม อาจารย์นันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำกระบวนการทบทวนและรับฟังประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคตะวันออก โดยพบว่าประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนเห็นว่าควรเร่งรัดแก้ปัญหา เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ความแออัดของพื้นที่เมือง มลพิษ PM2.5 จากเถ้าฝุ่นภูเขา และปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะภาคีที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดการประชุมปฏิบัติการข้างต้นด้วย
สำหรับเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับสถานการณ์ความท้าทายและความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ จะมีการติดตามความคิดเห็นจากทั้งหมด 6 ภูมิภาค เพื่อนำข้อมูลและข้อคิดเห็นมาพัฒนากลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณในอนาคต
ทำความเข้าใจโครงการ Area Need ได้จาก “ ทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3” ที่ Policy Brief | บทสรุปนโยบายที่ต้องการระดับพื้นที่จาก Area Need ปีที่ 2 และทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
Last Updated on เมษายน 11, 2025