ในปี 2567 อุณหภูมิโลกพุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ภาวะความร้อนในเขตเมืองทวีความรุนแรงขึ้นและกลายเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่หลายเมืองทั่วโลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะ ‘กรุงเทพมหานคร’ ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเผชิญความเสี่ยงจากความร้อนจัดส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพของเมือง จึงจำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตมาตรการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความร้อนและพัฒนาเมืองในระยะยาว
ธนาคารโลก (The World Bank) ร่วมกับกองทุนโลกเพื่อลดความเสี่ยงและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ (Global Facility for Disaster Reduction and Recovery – GFDRR) และกรุงเทพมหานคร เผยแพร่การศึกษาเรื่อง “พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” ระบุว่ากรุงเทพฯ กำลังเผชิญผลกระทบรุนแรงจากภาวะความร้อนในเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island: UHI) ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างได้กลายเป็นแหล่งสะสมและกักเก็บความร้อน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียผลิตภาพแรงงาน ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบเศรษฐกิจของเมือง
การศึกษาพบความท้าทายสำคัญหลายประการ อาทิ
- ผลกระทบจากอากาศที่ร้อนเพิ่มมากขึ้น จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลองภูมิอากาศสะท้อนให้เห็นว่า ภายในปี 2643 กรุงเทพฯ อาจเผชิญกับวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นอีก 153 วันต่อปีหากยังคงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง ซึ่งหมายถึงประชาชนจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดยาวนานขึ้นกว่าครึ่งปี
- ผลกระทบต่อสุขภาพและการเสียชีวิตจากความร้อน หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส เฉพาะกรุงเทพฯ อาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนมากกว่า 2,300 รายต่อปี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 880,000 คน และผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ประมาณ 1 ล้านคน ที่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนสูงสุด
- ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและผลิตภาพแรงงาน ข้อมูลในปี 2562 ระบุว่ามีแรงงานในกรุงเทพฯ ราว 1.3 ล้านคน ที่ต้องทำงานกลางแจ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส อาจทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลงประมาณ 3.4% ซึ่งเทียบเท่ากับ การสูญเสียค่าจ้างแรงงานมากกว่า 44,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อทั้งรายได้ของประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของเมือง
- ผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส อาจทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความร้อนที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน ที่ต้องได้รับการซ่อมแซมบ่อยขึ้น เนื่องจากการเสื่อมสภาพจากความร้อน ส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้มีการเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาความร้อนในเมือง เช่น การขยายขอบเขตมาตรการและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความร้อน รวมถึงการบูรณาการประเด็นสภาพอากาศในการวางแผนเมืองในระยะยาว เช่น การขยายโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและสีน้ำเงิน (Green and Blue Infrastructure) รวมถึงการปรับใช้กฎหมาย ข้อบังคับอาคาร และการพัฒนาระบบขนส่งที่คำนึงถึงสภาพอากาศ อีกทั้งยังมีความจำเป็นในการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษด้านความร้อนในเมือง เพื่อบูรณาการงานระหว่างหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อน และพัฒนาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน เช่น กองทุนพัฒนาความสามารถในการรับมือความร้อน เพื่อให้โครงการลดความร้อนในเมืองดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานจัดอันดับ 100 เมืองทั่วโลกที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด โดย 99 เมืองอยู่ในทวีปเอเชีย
– 25 เมืองใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 52% ของปริมาณทั่วโลก โดยเมืองใหญ่ในเอเชียเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ
– ‘เอเชีย’ ได้รับผลกระทบ Climate Change มากที่สุด รายงาน WMO ชี้ปี 2566 หลายประเทศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ เสี่ยงภัยพิบัติรุนเเรงขึ้น
– เมืองเมเดยิน ปรับภูมิทัศน์สร้างพื้นที่สีเขียว ผ่านโครงการ ‘Green Corridors’ – เพื่อสร้างร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิของเมือง
– SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
แหล่งที่มา: Shaping a Cooler Bangkok: Tackling Urban Heat for a More Livable City (worldbank)
Last Updated on เมษายน 18, 2025