โครงการ Area Need ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยเฉพาะการผลักดันแนวคิด SDG Localization ที่มุ่งเน้นการปรับใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยครอบคลุมทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่
หนึ่งในกระบวนการสำคัญของ Area Need 3 คือการจัดทำ ‘ดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด’ หรือที่เรียกว่า ‘Provincial SDG Index’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวัดและติดตามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการ วิเคราะห์ช่วงว่างของข้อมูล ผ่านกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับพื้นที่
SDG Insights ฉบับนี้พาสำรวจผลดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ระดับจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดในระดับจังหวัดตามประเด็น SDGs พร้อมเจาะลึกภาพรวมของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่เปิดรับฟังข้อมูลความท้าทายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
01 – ภาพรวมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คณะทำงานระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
การประชุมข้างต้นมีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งสิ้น 61 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชน จากภาคส่วนและหน่วยงานที่หลากหลาย เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสกลนคร และ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
02 – ข้อค้นพบเบื้องต้นจากดัชนีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลประเด็นความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อค้นพบจากกระบวนการจัดทำ SDG Index ระดับจังหวัด จากการผลการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 9 เป้าหมาย ได้เเก่
- SDG 2 ยุติความหิวโหย เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.5 ร้อยละของพื้นที่ทำการเกษตรที่ประสบภัยพิบัติ
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.10 ร้อยละความครอบคลุมสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
- SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.3 อัตราการสำเร็จการศึกษา (มัธยมศึกษาตอนต้น)
- SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ร้อยละของผู้หญิงอายุ 15 – 49 ปี ที่ได้รับบริการคุมกำเนิดหลังคลอดหรือหลังเเท้ง
- SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 จำนวนบทความ/งานวิจัยที่เผยเเพร่ในฐานข้อมูล Scopus
- SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.3 สัดส่วนผู้ประกอบการขนส่งประจำทางต่อประชากร เเละ 11.4 สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร
- SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.5 จำนวนโรงเเรมที่ได้รับการรับรรองมาตรฐาน Green Hotel
- SDG 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.9 อัตราการเเก้ปัญหาเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน
- SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.1 ผลการจัดเก็บภาษีอากรรายจังหวัด ต่อ GDP
ด้านภาพรวมดัชนีรายจังหวัด ผศ.ชล เผยว่าจังหวัดที่มีคะแนน SDG Index สูงสุด 5 อันดับแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อันดับที่ 1 ขอนแก่น (61.09 คะแนน) อันดับที่ 2 บึงกาฬ (61.03 คะแนน) อันดับที่ 3 หนองคาย (60.24 คะแนน) อันดับที่ 4 มหาสารคาม (58.56 คะแนน) และ อันดับที่ 5 อุดรธานี (57.79 คะแนน) ส่วน หนองบัวลำภู รั้งท้ายอันดับที่ 20 ได้คะแนน 49.74 คะแนน
ข้อมูลดัชนีที่นำเสนอเป็นข้อมูลขั้นต้นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เอกสารสถิติและข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเป้าหมาย ทั้งนี้ ยังมิได้นำผลจากการประชุมปฏิบัติการมาเปรียบเทียบกับความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์และผนวกเพิ่มเติมในระยะถัดไป เพื่อจัดทำ SDG Index ที่สมบูรณ์และครอบคลุมต่อไป
วิธีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนี มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. การทบทวนวรรณกรรม (literature review) : สำรวจรายการตัวชี้วัดในการจัดทำจากหลายแหล่ง ได้แก่ SDG Index รายงานความยั่งยืนระดับกลุ่มจังหวัด รายงานความก้าวคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) และ รายงานสถานะตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ พ.ศ. 2566 จากนั้นจึงหา Proxy Indicator และระบุตัวชี้วัดที่จะใช้ในโครงการและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การรวบรวมข้อมูล (data collection) : ดึงข้อมูลหรือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลระดับจังหวัดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกฎเกณฑ์ค่าเป้าหมายต่าง ๆ
3. การวิเคราะห์ข้อมูล (data processing and analysis) : รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดลงในเทมเพลตการคำนวณ จากนั้นจึง normalization ค่าข้อมูลให้อยู่ในช่วง 0-100 และหาค่าเฉลี่ยรายเป้าหมายระดับจังหวัด ระดับภาค พร้อมทั้งระบุประเด็นท้าทายรายจังหวัด
03 – ปัญหาและยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาจารย์นันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำกระบวนการทบทวนและรับฟังประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบว่าหลายภาคส่วนเห็นพ้องถึงประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งรัด แบ่งได้ออกเป็น 3 มิติ ได้แก่
- มิติสังคม
- ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพและเข้าถึงยาก [SDG4] [SDG10]
- การติดยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน [SDG3]
- สังคมสูงวัยกับความท้าทายในการเท่าทันเทคโนโลยีโดยไม่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์ [SDG9]
- มิติเศรษฐกิจ
- การเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน [SDG1] [SDG10]
- การจัดการแรงงานนอกระบบและแรงงานต่างชาติ [SDG8]
- ภาระหนี้สินของครัวเรือน [SDG1]
- มิติสิ่งแวดล้อม
- การขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้งรวมไปถึงด้านน้ำเกินในภาคการเกษตร [SDG2, SDG6]
- การจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาที่สร้างมลพิษ [SDG3, SDG11, SDG12]
- ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 [SDG3, SDG11, SDG13]
- ภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วมและน้ำแล้ง [SDG13]
จากประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนข้างต้น ด้าน ผศ. ดร.วิจิตรา สุจริต อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และผู้ประสานงานหลักของคณะทำงานระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าเป็นประเด็นปัญหาและความต้องการพัฒนาที่ได้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมไม่ได้เกินความคาดหมายมากนัก เนื่องจากโดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่มักถูกหยิบยกหรือกล่าวถึงในเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาคส่วนเวทีอื่น ๆ เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่นเรื่องยาเสพติดเป็นประเด็นร่วมเพราะทุกพื้นที่ของภาคนี้เผชิญปัญหาร่วมกันเนื่องจากยาเสพติดเข้าถึงง่าย ส่วนการศึกษามีความท้าทายที่คล้ายคลึงกันกล่าวคือแม้จะมีความพยายามพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมแต่ยังมีคนที่เข้ามาเรียนจำนวนน้อยซึ่งตรงนี้ต้องค้นคว้าว่าเพราะหลักสูตรยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมปัจจุบันหรืออันที่จริงเพราะคนไม่รับทราบข้อมูลของการจัดการศึกษา
ขณะที่เรื่องเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในภูมิภาคนี้ พบว่าประเด็นมีความหลากหลายสารพันปัญหา ตั้งแต่น้ำท่วม น้ำแล้ง ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ต้นทุนสูง ไปจนถึงการใช้สารเคมี และพบว่าเกษตรกรยังไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก บางครั้งอาจเสพติดการสนับสนุนของภาครัฐ ก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ในพื้นที่เหมือนกัน จึงเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับการรับรู้เดิม ไม่มีประเด็นใหม่มากนัก
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ยังได้ร่วมกันเสนอทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเเละเเก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้วิจัย วิทยาศาสตร์ เเละนวัตกรรม เช่น นวัตกรรมเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ศูนย์พัฒนาและให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวในชุมชน การส่งเสริมให้เกิดคณะกรรมการขับเคลื่อน SDGs ระดับจังหวัด งานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เเละ การพัฒนาฐานข้อมูลสถานการณ์และระบบติดตาม/พัฒนาเยาวชน
04 – ปัจจัยความสำเร็จในการประชุมรับฟังความคิดเห็น
เมื่อถามถึงมุมมองต่อความสำเร็จของการจัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการข้างต้น ผศ. ดร.วิจิตรา เผยว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากมีการสื่อสารและเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยผู้จัดงานคือ SDG Move วางกลไก ออกแบบเครื่องมือ และสะท้อนข้อมูลออกมาให้เห็นข้อมูลระดับประเทศ ระดับพื้นที่ และได้นำข้อมูลจากการระดมความคิดเห็นมาสรุปภาพรวม ทั้งปัญหายาเสพติด การศึกษา การเกษตร อย่างไรก็ดี ความท้าทายอยู่ที่ขั้นตอนหลังจากนี้ นั่นคือโจทย์ที่ว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกนำแปลงเป็นข้อมูลนำไปสู่การไปปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ซึ่งในมุมของตนเองเห็นว่าหากมี “พื้นที่ต้นแบบ” ในการทดลองปฏิบัติจริง จากความต้องการในระดับพื้นที่อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของการจัดเวทีระดมความคิดนั้นหนุนเนื่องมาจากความเข้มแข็งของทุนทางสังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเอง โดย ผศ. ดร.วิจิตรา ระบุว่าด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จึงมีเครือข่ายระดับพื้นที่หลากหลายภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมามักพบเจอและทำงานร่วมกันผ่านกิจกรรม การประชุม หรือโครงการของหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็มีการสนับสนุนในเรื่องกลไกในการบูรณาการความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้การพูดคุยงานหรือ function งานได้เป็นอย่างดี เราเรียกว่าใช้พันธกิจร่วมในการทำงานร่วมกัน มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ มีงานวิจัย มีเทคโนโลยี มีศูนย์ตรวจสอบเครื่องมือ/ มาตรฐาน เราก็ทำงานให้กับภาคี พอเขามีประเด็นก็จะคิดถึงเรา ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาคีก็เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษาด้วย โดยมหาวิทยาลัยส่งนักศึกษาไปฝึก อาจารย์ไปนิเทศก็รู้จักกัน เกิดเป็นระบบความสัมพันธ์ ถือว่าเป็นทุนทางสังคมที่เป็นระบบความสัมพันธ์
นอกจากนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนการทำงานกับพื้นที่เป็นอย่างดี ตั้งแต่ (1) การกำหนดนโยบาย การอนุเคราะห์ในการจัดงานร่วมกัน การประสานภาคี (2) ภูมิปัญญา/ วัฒนธรรม สกลนครมี 6 ชนเผ่า หรืออาจแยกย่อยถึง 8 ชนเผ่า อย่างไทบ้านเดียวกันก็เข้ามามีส่วนร่วม หรือเครือข่ายภาคประชาสังคมอินแปงก็เข้ามาร่วมสะท้อนข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงถือว่าเรามีทั้งทุนทางสังคม ทุนทางสถาบัน และทุนทางภูมิปัญญา/ วัฒนธรรม
05 – ม.ราชภัฏสกลนคร กับบทบาทขับเคลื่อน SDGs และหนุนเสริมระบบ ววน.
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การระดมความเห็นครั้งนี้ประสบความสำเร็จคือความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในการสนับสนุนขับเคลื่อน SDGs โดยในที่ประชุม ศ. ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการบดี ด้านแผน ยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้นำเสนอบทบาทมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ว่า การพัฒนาภายใน (Inner Development) เป็นต้นน้ำสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อน 3 ด้าน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางสังคม สร้างมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งการขับเคลื่อนเหล่านี้จะตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขณะที่ปัญหาหลักที่มหาวิทยาลัยให้ความสนใจและเร่งแก้ไข ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษา การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การลงทุนพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจฐานรากถูกควบคุมด้วยต่างประเทศ โดยมีการดำเนินการที่หลากหลายเพื่อเร่งรัดขับเคลื่อน SDGs เช่น การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะเพื่อขับเคลื่อน SDGs และการสนับสนุนให้การทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมากขึ้น
ด้าน ผศ. ดร.วิจิตรา ฉายภาพเพิ่มเติมว่าการขับเคลื่อน SDGs ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครมีการกำกับดูแลโดยกองนโยบายและแผน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย มีโครงสร้างประธาน คณะกรรมการ และเลขานุการที่ชัดเจน และอาจารย์ที่มีความชำนาญหรือประสบการณ์ทางด้านไหนก็จะมาร่วมทำงานร่วมกันในระดับมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นบทบาทหนึ่งในฐานะบุคลากรของมหาวิทยาลัย จึงกล่าวได้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระดับพื้นที่จะตอบเรื่อง SDG localization ได้เป็นอย่างดี ปัญหาในระดับพื้นที่ก็จะถูกสะท้อน และออกแบบแก้ไขได้ด้วยกระบวนการวิจัย งานบริการวิชาการ และการจัดการเรียนการสอนที่นักศึกษาจะได้ลงพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ที่กลุ่มราชภัฏมีการออกแบบการพัฒนาระดับพื้นที่เป็นการทำงานร่วมกัน
ด้วยบทบาทและความเข้มแข็งที่ใกล้ชิดกับชุมชนพร้อมกับมีองค์ความรู้เป็นฐานหลัก มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจึงอยากทดลองเป็นกลไกในการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ระบบ ววน. ดังเห็นได้ตั้งแต่การเป็นการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และความมุ่งหวังที่จะใช้ศักยภาพของสถาบันสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือชุมชน
ทั้งนี้ ผศ. ดร.วิจิตรา สะท้อนความเชื่อมั่นว่างานวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเป็นหนึ่งในโหนดสำคัญของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ผ่านมาจึงมีการจัดสรรทุนเพื่อให้อาจารย์ได้ทำงานวิจัยกับชุมชน ทั้งยังมีการเตรียมพร้อมด้วยการพัฒนานักศึกษาผ่านกระบวนการวิศวกรสังคมในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน บันไดแรกในการลงเน้นไปที่ระบบความสัมพันธ์กับพื้นที่เพราะถึงแม้มหาวิทยาลัยจะอยู่ในพื้นที่ แต่เวลาที่นักศึกษาไปลงในต่างพื้นที่ต่างชุมชน การเริ่มต้นในการพูดคุย สร้างการมีส่วนร่วม การใช้เครื่องมืออย่างง่ายจะทำให้เกิดการเปิดใจและพูดคุย ได้เล่าสถานการณ์ในระดับพื้นที่ คนที่เข้ามาร่วมในเวทีของเรา ไม่ได้แค่มาตอบคำถามหรือแค่มารับสารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ให้เขาเห็นว่าเขามีความสำคัญในระดับชุมชน อีกอย่างคือเป็นการทวนข้อมูลของชุมชนของเขาเอง
นอกจากนี้ หากพิจารณาปัญหาเร่งด่วนอย่างเกษตรกรรม ผศ. ดร.วิจิตรา ชี้ว่าการยกระดับให้หลุดจากกับดักเดิม องค์ความรู้ด้านวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี การถ่ายทอดและย่อยองค์ความรู้ต้องต่างออกไปจากเดิม โดยมหาวิทยาลัยสามารถจัดกลุ่มองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ และทำให้ชุมชนสามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ กระบวนการตรงนี้สำคัญมากเพราะมหาวิทยาลัยผลิตองค์ความรู้อยู่แล้ว แต่โจทย์สำคัญของการหนุนเสริมอยู่ที่การจัดการให้ความรู้ที่ถูกวิจัยหรือนวัตกรรมที่ถูกสร้างสรรค์สามารถนำไปใช้ได้จริง
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ