วันที่ 15 เมษายน 2568 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้ร่วมกันบรรลุความสำเร็จในการร่าง ‘Pandemic Agreement’ หรือข้อตกลงฉบับสมบูรณ์สำหรับเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยร่างฉบับนี้จะถูกเสนอในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ครั้งที่ 78 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมศกนี้ เพื่อให้ประเทศทั้งหลายรับไปปรับใช้ต่อไป
ข้อตกลงข้างต้นร่างขึ้นภายใต้การสนับสนุนและดูแลหลักขององค์การอนามัยโลก โดยกว่าจะได้ข้อสรุปต้องใช้เวลาในการหารือระหว่างประเทศต่าง ๆ ยาวนานกว่า 3 ปี จึงนับเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของการจัดการกับโรคระบาดที่น่าสนใจ เช่นที่ Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “ในการบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับข้อตกลงการรับมือกับโรคระบาด ประเทศทั้งหลายไม่เพียงแต่ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อทำให้โลกปลอดภัยยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าความร่วมมือพหุภาคียังคงดำรงอยู่ในโลกที่ถูกแบ่งขั้ว-ข้าง ประเทศต่าง ๆ ยังคงทำงานร่วมกันเพื่อหาจุดร่วมและตอบสนองต่อภัยคุกคาม”
ข้อเสนอที่ปรากฏในข้อตกลงฉบับนี้ เช่น
- การจัดตั้งระบบที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดใหญ่
- การใช้แนวทาง ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ (one health) สำหรับการจัดการและรับมือกับการระบาดใหญ่
- การถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ และทักษะ ที่เป็นประโยชน์แก่การเตรียมพร้อมตั้งรับกับการระบาดใหญ่
- การระดมบุคลากรที่มีทักษะจากหลากหลายแขนงวิชาเพื่อร่วมทำงานในภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับประเทศและระดับโลก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนร่วมในการเติมเต็มและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับจัดทำข้อตกลงดังกล่าวมาโดยตลอด โดย ดร.สุวิทย์ มังคละ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศและ คุณอังคณา บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมควบคุมโรคไทย ให้ข้อมูลในงานเสวนา ‘เตรียมความพร้อมประเทศไทยในอนาคตก่อนการเจรจาในระดับโลกด้านข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาด’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ว่าไทยได้มีการนำข้อเรียนรู้จากการระบาดใหญ่มาเตรียมความพร้อมรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การปรับปรุงกฎหมาย ระบบการเฝ้าระวัง การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีความสอดคล้องกับการเจรจาข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาดนี้ด้วยเช่นกัน คาดว่า เมื่อผลการเจรจาใกล้เสร็จสิ้นและเล็งเห็นว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ต้องจัดทำขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่มีข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาดดังกล่าว
ในงานเสวนาเดียวกัน ดร.สพ.ญ. เสาวพักตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาดเป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการจัดตั้งกลไกการเจรจาระหว่างรัฐ หรือ Intergovernmental Negotiating Body (INB) ขึ้นมาเพื่อหารือและเจรจาข้อตกลงดังกล่าวอันจะมีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศหากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง โดยข้อตกลงดังกล่าวนี้ อาจมีเนื้อความหรือข้อสารัตถะที่กระทบทางด้านกฎหมายในหลายมิติ และหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– WHO รับรองนวัตกรรมใหม่สำหรับทดสอบวินิจฉัยวัณโรค ชี้ทราบผลเร็ว-ระบุการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมได้
– การประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ ผู้นำโลกยืนยันความมุ่งมั่นสร้าง ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ – เตรียมรับมือโรคระบาดและยุติวัณโรค
– เรียนรู้บทเรียนจากเคนยาและไทยในวิกฤตโควิด-19 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนมีบทบาทอย่างไร พร้อมค้นหาแนวทางการรับมือและอุปสรรค
– ชวนติดตาม การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 77 – ร่วมค้นหาทางออกให้โลกรอดพ้นความท้าทายจากวิกฤต
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ตามปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) และการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลง TRIPS อย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา
– สรป.คร. ร่วมสี่หน่วยงานเตรียมความพร้อมประเทศไทย ก้าวทันโลกในระหว่างการเจรจาข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาด (กรมควบคุมโรค)
– WHO Member States conclude negotiations and make significant progress on draft pandemic agreement (WHO)