โดย: ณัชฎา คงศรี | SDG Move
ความเป็นมา
MDGs (Millennium Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เกิดจากการรวมตัวกันในการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2543 โดยผู้นำประเทศได้มีการตกลงร่วมกันถึงเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกันทั้งสิ้น 8 เป้าหมาย โดยกำหนดกรอบเวลาในการบรรลุไว้ 15 ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2558 (ค.ศ.2000-2015) MDGs จึงเปรียบเสมือนเป็นประวัติศาสตร์และการขับเคลื่อนของโลกในการจัดการกับปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น MDGs ได้สื่อสารทำให้สังคมโลกได้เกิดความตื่นตัวต่อการแก้ไขปัญาความยากจน โรคติดต่อ การไม่ได้รับการศึกษาของเด็กทั่วโลก ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้การที่ MDGs วางเป้าหมายที่ชัดและมีเวลากำกับ ทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการทำแผนในยุค 90’s
ด้วย MDGs ได้สิ้นสุดระยะของเป้าหมายตามที่กำหนดในปี พ.ศ. 2558 ทาง UN ได้มีการเตรียมการ และจัดประชุมล่วงหน้าในหลากหลายระดับ รวมไปถึงการรวบรวมความคิดเห็นของประชาคมโลกผ่าน internet เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อน พ.ศ. 2558 เพื่อร่วมกำหนดกรอบในการเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกในระยะต่อไปได้มีการกำหนดกรอบเป้าหมายใหม่ที่เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ออกมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 โดยจะใช้เป้าหมายนี้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนโลกไปจนถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2573 (15 ปี) ซึ่ง SDGs ได้ถูกพัฒนาบนพื้นฐานการมองความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 17 เป้าหมาย นอกจาก 17 เป้าหมายดังกล่าวที่มีการพัฒนาใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของ SDGs แล้วสำหรับประเทศไทยเองนั้น ยังให้ความสำคัญกับมิติทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วย
จุดแข็ง จุดอ่อน และความแตกต่างระหว่าง MDGs และ SDGs
อาจกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของ MDGs สะท้อนมุมมองการแก้ไขปัญหาของโลกแบบเส้นตรง ภายใต้กระบวนการแบบบนลงล่าง (top down process) อย่างชัดเจน เหตุเพราะกระบวนการได้มาซึ่ง MDGs นั้นมาจากการร่างของคณะผู้เชี่ยวชาญ (technocrats) ขาดการมีส่วนร่วมระหว่างประเทศสมาชิกในการถกเถียง หรือหารือกันเพื่อจัดลำดับประเด็นปัญหาสำคัญของโลก แต่ MDGs มีจุดแข็งอยู่ที่การนำเสนอที่กระชับ เข้าใจง่าย และมีการกำหนดกรอบประเด็นที่ชัดเจน หากแต่ SDGs นั้นได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมระหว่างประชาคมโลกในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจกผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ระดับองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organizations: CSOs) ผ่านการจัดประชุมระดมความคิดในรายประเด็นและระดับพื้นที่ จนไปถึงระดับภาครัฐและผู้นำประเทศผ่านการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญและการประชุมสุดยอดผู้นำโลก เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบประเด็นที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาสำคัญทั้งประเทศที่รายได้สูงและรายได้น้อย ทันสมัย และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า
จากการที่ MDGs เกิดจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (high income countries) จึงทำให้มุมมองในการกำหนดเป้าหมายพุ่งเป้าไปในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของประเทศที่ยังมีรายได้น้อย (low income countries) อาทิ เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยพิจารณาในเรื่องของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) โรคติดต่ออย่างมาลาเรีย การแก้เรื่องของสุขภาพมารดาที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มปัญหาเหล่านี้มีอัตราการเกิดไม่มากในประเทศที่มีรายได้สูง หรือในกลุ่มประเทศที่รายได้ปานกลางหลายประเทศ จึงทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ในบทบาท “ผู้ให้ความช่วยเหลือ” มากกว่าการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเดินไปสู่การบรรลุเป้าหมายของโลกในการพัฒนา จน MDGs เคยถูกแปลงความหมายจากนักคิดบางคนจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) กลายเป็น เป้าหมายการพัฒนาขั้นต่ำ (Minimum Development Goals) (Harcourt, 2005)
SDGs ได้นำเอาบทเรียนของ MDGs ในเรื่องนี้มาปรับปรุงรูปแบบการวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเดิมที่มุ่งเน้นการไปสู่การบรรลุเป้าหมายขั้นต่ำของการพัฒนา มาเป็นการมองประเด็นต่างๆของโลกแบบเชื่อมโยงกันทั้งมิติสังคม (Social Dimension) มิติเศรษฐกิจ (Economic Dimension) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental Dimension) โดยมีมิติการบริหารจัดการ (Management Dimension) เป็นกลไกในการเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ครอบคลุมบริบทที่แตกต่างกันระหว่างประเทศที่มีรายได้สูง และประเทศที่รายได้น้อย ให้มีบทบาทและส่วนร่วมต่อการเดินไปสู่เป้าหมาย อาทิ ในประเด็นมิติสิ่งแวดล้อม อันเกิดมาจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มาจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่เกิดใหม่อย่าง จีน อินเดีย บราซิล เป็นต้น และปัญหาการปล่อยแก๊ซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์ โจทย์สำคัญของ SDGs คือการดึงให้กลุ่มประเทศที่เป็นต้นตอของปัญหาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการเกิดปัญหา ไปจนถึงการช่วยเหลือ สนับสนุนการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทั้งการสร้างพลังสะอาด (Clean Energy) การสนับสนุนการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) เป็นต้นเปรียบเทียบระหว่างเป้าหมายและผลลัพธ์ที่สำคัญของ MDGs กับ SDGs
MDGs | ผลลัพธ์ | SDGs |
1. การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนคนจนให้ได้ร้อยละ 50 | จากการดำเนินงานพบว่ายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เพียงประมาณร้อยละ 36 | 1. ขจัดความยากจน ความหิวโหย ให้หมดไปจากโลกนี้
|
2. ทำให้เด็กทุกคนในโลก มีการศึกษาอย่างน้อยขั้นประถม | จากการดำเนินงาน พบว่า เด็กในประเทศที่ยากจนที่สุด ได้รับการศึกษาขั้นประถมเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 74 แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้า | 2. เด็กทุกคนบนโลกจะต้องมีการศึกษาอย่างน้อยชั้นมัธยมศึกษา |
3. ลดจำนวนคนติดโรคเอดส์ ให้ได้ครึ่งหนึ่ง | จากการดำเนินงาน พบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ มีจำนวนลดลง ประมาณร้อยละ 40 แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้า | 3. หยุดยั้งการแพร่ระบาดของโลกร้าย อาทิ โรคเอดส์ วัณโรค มาเลเรีย |
อ้างอิงข้อมูลจาก – รศ.ดร.ประภัสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากเว็บ http://www.drprapat.com/sustainable-development-goals-sdgs/
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการดำเนินการของ MDGs ในระยะที่ผ่านมาส่งผลต่อการลดลงของปัญหาของโลกได้มากก็จริงแต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ การที่ SDGs ได้มีการตั้งเป้าหมายที่สูงกว่าเป้าหมายเดิมเป็นเท่าตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อการชี้เป้าและสร้างความร่วมระหว่างประชาคมโลกในการแก้ปัญหา แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้จริงนั้นจำเป็นต้องอาศัยเงินทุน และความร่วมมืออย่างมากจากทุกประเทศ ดังนั้นกระบวนการในการเคลื่อน SDGs จึงถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลากหลายมิติทั้งการเกิดขึ้นของภัยพิบัติที่รุนแรงและถี่ขึ้น การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่ทำได้ยากขึ้น ประกอบการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานจาก UN Population Division ว่าประชากรของโลกมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 75-80 ล้านคน และคาดว่าจำนวนประชากรของโลกจะแตะ 9 พันล้านคนในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 อีกทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรายได้ประชากรในประเทศที่ประชากรมากอย่าง จีน และอินเดีย จะส่งผลให้ความต้องการอาหารของโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่ในการเพาะปลูก และการเกษตร ของโลกมีจำนวนลดลง มีโอกาสส่งผลให้โลกเผชิญกับวิกฤตของการขาดแคลนอาหารได้
จากการประชุม 2016 Global Forum on Development โดยภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญอย่าง Mario Pezzini ผู้อำนวยการ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ได้พูดถึงความท้าทายใหญ่ๆที่อาจส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไว้ดังต่อไปนี้
- จำนวนประชากรในทวีปแอฟริกา: จากการประเมินพบว่า แนวโน้มประชากรในทวีปแแอฟริกา มีโอกาสเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปี 2050 ซึ่งมากกว่าประวัติศาสตร์การเพิ่มขึ้นของประชากรทั้งในจีนและอีนเดีย
- การอพยพ: ถ้าเรายังไม่สามารถควบคุมประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นในทวีปแอฟริกาได้ โลกก็จะเผชิญกับปัญหาผู้อพยพจำนวนมหาศาล
- ความช้า และความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ: จากประสบการณ์ในหลายประเทศพบว่าทศวรรษที่ผ่านๆมานั้น มีบางประเทศได้ประสบกับการพัฒนาที่ล่าช้า และไม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือหยิบยื่นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเป้าหมาย
- อาสาสมัครชนชั้นกลาง: การที่โอกาสทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัดอาจส่งผลต่อชนชั้นกลางที่เป็นอาสาสมัครคนสำคัญต่อการขับเคลื่อนป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของภาคประชาชน การที่สภาวะทางเศรษฐกิจบีบขั้นอาจทำให้การตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมทำงานอาสาสมัครของกลุ่มนี้ถูกจำกัดลง
เสาหลักสำคัญในการเคลื่อน SDGs
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลากหลายมิติทั้งการเกิดขึ้นของภัยพิบัติที่รุนแรงและถี่ขึ้น การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่ทำได้ยากขึ้น ประกอบการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานจาก UN Population Division ว่าประชากรของโลกมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 75-80 ล้านคน และคาดว่าจำนวนประชากรของโลกจะแตะ 9 พันล้านคนในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 อีกทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรายได้ประชากรในประเทศที่ประชากรมากอย่าง จีน และอินเดีย จะส่งผลให้ความต้องการอาหารของโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่ในการเพาะปลูก และการเกษตร ของโลกมีจำนวนลดลง มีโอกาสส่งผลให้โลกเผชิญกับวิกฤตของการขาดแคลนอาหารได้
จากความท้าทายดังกล่าว จึงเป็นที่มาที่ทำให้ SDGs ได้กำหนดหมวดหมู่การดำเนินการออกเป็น 3 หมวด คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม โดยมีการบริหารจัดการที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นกลไกในการเชื่อมโยง ซึ่งสามารถแบ่งรายละเอียดดั้งนี้
- การพัฒนาทางเศรษฐกิจ – การทำให้ประชากรของโลกได้มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เข้าถึงแหล่งน้ำ และระบบสุขาภิบาลที่สะอาด เพียงพอ ยั่งยืน สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ ไฟฟ้า ถนน และการเชื่อมต่อข้อมูลกับประชาคมโลก
- การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน – การทำให้โลกเคลื่อนไปสู่การลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สเรือนกระจกพร้อมกัน การพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่สะอาด เข้าถึงได้ การจัดการการเพิ่มขึ้นของประชากรให้สามารถมั่นใจได้ว่าประชากรจะมีความพร้อมในการมีครอบครัว เด็กจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ การจัดการนวัตกรรมทางการเกษตรที่ยั่งยืน
- การสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม – การส่งเสริมให้พลเมืองมีการเป็นที่ดี (wellbeing) สามารถเข้าถึงโอกาสในการที่จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น เพศ ศาสนา ภาษา เชื้อชาติ ตลอดจนสีผิว ทุกประเทศจะต้องมีการติดตามและวัดระดับความพึงพอใจในชีวิตของพลเมือง
- การบริหารจัดการที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ – ภาครัฐ และผู้บริหารในทุกระดับจะต้องมีส่วนร่วมต่อการเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การมีพันธะสัญญาต่อระบอบกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ตั้งแต่ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการ โปร่งใส และได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนไม่ใช่เป็นเพียงการขับเคลื่อนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่เราจะสามารถเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง สำหรับเพจ SDG Move ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนครั้งนี้ด้วย แล้วมาเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกันนะคะ
อ่านเพิ่มเติมว่าประเทศอื่น ๆ ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างได้ ที่ บทความ Sustainable Development Goal (SDGs): The Current World Trend (ภาษาอังกฤษ)
อ้างอิง:
Sakiko Fukuda-Parr. From the Millennium Development Goals to the Sustainable Development Goals: shifts in purpose, concept, and politics of global goal setting for development. Gender & Development, 2016, VOL. 24, NO. 1, 43–52. 18 Feb 2016.
Jeffrey D Sachs. From Millennium Development Goals to Sustainable Development Goals. Lancet 2012; 379: 2206–11.
รศ.ดร.ประภัสร์ เทพชาตรี. Sustainable Development Goals (SDGs). ค้นข้อมูลจากเว็บ http://www.drprapat.com/sustainable-development-goals-sdgs/ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560.
Last Updated on มีนาคม 21, 2020
กำลังทำวิทยานิพนธ์ ป เอก ของ มหาจุฬา (มจร) สาขาสันติศึกษา โดยสนใจ SDGs กับพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างสันติภาพ ครับ