ผู้พิการในประเทศไทย และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน – กับคุณเจนจิรา บุญสมบัติ

เรื่องและภาพ ดร. ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี, นิภัทรา นาคสิงห์

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อย่อ “SDGs” ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย ซึ่งทุกเป้าหมายมีเกี่ยวข้องกับเราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งที่เป็นคนปกติที่มีอวัยวะครบทั้ง 32 ประการ ตลอดจนผู้พิการ และผู้ทุพพลภาพทุกประเภท และเมื่อทำความเข้าใจกับ SDGs เป็นอย่างดีแล้ว จะเห็นว่าเป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือการที่พวกเราต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  ทั้งนี้ เนื่องจาก สังคมที่ผู้อยู่กันอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม คือ สังคมที่มีความผาสุก เช่นนี้เราทุกคนจึงล้วนมีส่วนร่วม และมีสิทธิที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่สังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม

เพื่อแสดงให้เห็นว่า SDGs มีเกี่ยวข้องกับทุกกลุ่มคน คุณกาวา หรือ คุณเจนจิรา บุญสมบัติ เป็นตัวแทนของผู้พิการที่เราร่วมพูดคุยกันในวันนี้ ถึงประเด็นการใช้ชีวิตของคนพิการในประเทศไทย และความเกี่ยวข้องระหว่างคนพิการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน คุณกาวาคือคนเก่งอันเป็นที่รักยิ่ง ของเพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้อง ๆ ทุกคน คุณกาวาเรียนจบปริญญาโทเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ(Special Education) จาก มหาวิทยาลัยออริกอน (University of Oregon) ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการศึกษาและความมั่นคงของผู้พิการในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปี ปัจจุบันคุณกาวาทำงานอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

DSCF9608

 

การใช้ชีวิตของคนพิการของประเทศไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตก่อนอย่างไรบ้าง ?

หากมองย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน เรื่องทัศนคติของคนไทยต่อผู้พิการได้เปลี่ยนไปมาก ปัจจุบันผู้พิการเริ่มสามารถที่จะออกใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนปกติในสังคมได้ เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นว่าความพิการเป็นเรื่องปกติมิได้เป็นอะไรที่แปลกประหลาด อีกทั้งในหลาย ๆ สถานที่ได้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เพื่อเอื้อต่อผู้พิการ ในส่วนของภาครัฐเองได้มีการพัฒนากฎหมาย นโยบาย รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ขึ้นกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ประสานงานหลักระหว่างผู้พิการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเข้ามาช่วยดูแลตั้งแต่นโยบาย ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้พิการในประเทศไทยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และดีขึ้นกว่าอดีต อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตของผู้พิการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบจากอดีตไม่ได้หมายความผู้พิการมีชีวิตที่ดีแล้ว การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการยังคงต้องพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมต่อผู้พิการ ควรเป็นในรูปแบบไหน ?

ในสังคมไทย ปัญหาการเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะน้อยลงมาก ปัญหาหลักที่ผู้พิการมักร้องเรียน คือ การเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งหมด 2 แบบ อย่างแรกคือ การเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน (multiple discrimination) และแบบที่สองคือ การเลือกปฏิบัติทับซ้อน (intersectional discrimination) หลาย ๆ คนคิดว่าประเทศไทยควรปรับปรุงข้อกฎหมายลงโทษการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการโดยปราศจากการยินยอม แต่ส่วนตัวคิดการแก้ไขปัญหาให้มีความยั่งยืนก็คือต้องสนับสนุนแนวคิดเชิงสิทธิให้กับคนหมู่มาก มิใช่การมองผู้พิการในแง่การสงเคราะห์ หรือการให้ความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันความคิดนี้กลับทำให้มีสถานศึกษาสำหรับผู้พิการที่แยกผู้พิการออกไปจากสังคมเสมือนกับว่าผู้พิการจะต้องมีสถานที่เฉพาะ ไม่มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไป ผู้พิการล้วนมีสิทธิ์ในการแต่งงาน มีลูก มีครอบครัว และมีสิทธิ์ที่จะเข้ารับการศึกษา ตลอดจนมีสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ เพราะผู้พิการก็คือคน ๆ หนึ่งเหมือนกับคนอื่น ๆ นอกจากนี้คำกล่าวที่ผู้ใหญ่มักใช้สอนเด็ก ๆ ว่า “เห็นไหม เขาพิการ เขายังทำได้เลย” ควรเลิกใช้อย่างถาวร เพราะคำกล่าวนี้แม้จะไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ก็ทำให้สังคมยังคงมองคนพิการว่าด้อยกว่าคนทั่วไป

14344061_10155239514509196_4458094776329867881_n

สื่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ต้องร่วมกันสร้างมองมุมใหม่เกี่ยวกับผู้พิการให้กับคนในสังคม ไม่ว่าจะผ่านหนังสื่อ นิตยสาร สื่อออนไลน์ หรือละครโทรทัศน์ ที่ผ่านมาละครไทยที่มีผู้พิการ ตัวละครก็จะต้องรอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเสมอ ในขณะที่ละครหรือซีรีย์ในต่างประเทศ ก็มีตัวละครที่เป็นผู้พิการ และได้นำเสนอว่าคนพิการก็เข้มแข็งพอที่จะทำอะไรเองได้ ซึ่งก็อยากให้สื่อในประเทศไทยเป็นแบบนั้น เพราะจัดเป็นการสร้างองค์ความรู้รูปแบบหนึ่ง ว่า ผู้พิการสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ด้วยตัวเอง มิใช่แค่นั่งรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียว 

ในปัจจุบันมีนโยบายอะไรบ้าง ที่ช่วยเสริมสร้างชีวิตผู้พิการให้ดีขึ้น ?

โดยหลัก ๆ  ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีระบุใน พ.ร.บ. ว่า คนพิการที่มีสัญชาติไทยควรมีการจดทะเบียนบัตรผู้พิการ เพื่อที่จะได้เข้าถึงสิทธิ์ สวัสดิการของรัฐ หรือของสาธารณะที่เตรียมเอาไว้ สิ่งแรกที่จะได้คือ เบี้ยผู้พิการ 800 บาทต่อเดือน สิทธิ์เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี สิทธิ์การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และจะมีการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย กรณีที่ผู้พิการถูกเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบก็จะสามารถขอทนายความได้ หรือจะเป็นการขอสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผู้พิการก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์อย่างทั่วถึง แม้ว่าในปัจจุบันจะดีกว่าสมัยก่อนก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละพื้นที่ มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลหลายกลุ่ม  บางกลุ่มอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเดินทางเข้าถึงพื้นที่เป็นไปได้อย่างลำบาก หรือเข้าถึงยาก ประกอบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้หน่วยงานยังไม่สามารถดูแลผู้พิการให้เข้าถึงสิทธิ์ได้อย่างทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงาน หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องยังคงสามารถพัฒนารูปแบบการดำเนินงานให้ดีกว่านี้ได้อีก

260188_1799888244744_2656230_n

เพราะเหตุใดประเทศไทยถึงยังไม่ยั่งยืนในเรื่องการช่วยเหลือผู้พิการ ?

อันดับแรกคงเป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” ของคนในสังคม โดยผู้ออกแบบนโยบาย และผู้ออกแบบผังเมืองยังคงมองเรื่องผู้พิการไปในเชิงลบ ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้พิการก็เป็นประชาชนของประเทศ ล้วนมีสิทธิ์ต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนปกติ แต่นโยบายที่ออกมา หรืองานที่วางแผนมา การปฏิบัติต่อผู้พิการ ล้วนจะออกไปในเชิงลบ กฎหมาย หรือนโยบายบางอย่างเป็นการกีดกันการใช้ชีวิตของผู้พิการ  ทั้งหมดนี้ต่างกับต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นมีการวางผังเมืองให้ผู้พิการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระด้วยตัวเอง ในขณะที่ผังเมืองของประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างนั้นตั้งแต่ต้น ทำให้ยากแก่การแก้ไข ลองคิดดูการเดินทางที่สะดวกสำหรับผู้พิการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบัน คือใช้บริการแท็กซี่ ซึ่งในความเป็นจริงเงินเดือนก็ไม่คุ้มกับค่าเดินทางเลย สุดท้ายผู้พิการก็ต้องอยู่กับบ้าน

ในปัจจุบันแม้หลายภาคส่วนจะได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงหลาย ๆ พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการ แต่ทว่าการแก้ไขส่วนใหญ่เป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะหน้าที่ไม่ได้มีการคำนึงถึงการใช้งานจริง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผู้ใช้งานรถเข็นไม่สามารถขึ้นลงถนนและทางเดินเท้าที่มีการตั้งทางลาดที่มีความสูงชันจนเกินไป ไหนจะเรื่องทางเดินสำหรับคนตาบอดบนทางเท้าที่ใช้งานไม่ได้จริงอีก เหล่านี้ทำให้สงสัยว่าการวางแผนแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมือง หรือการกำหนดนโยบายอื่น ๆ มีผู้พิการเข้าร่วมกี่คน หรือมีผู้พิการเข้าร่วมดำเนินการหรือไม่?

หากพูดถึง SDG การพัฒนาที่ยั่งยืน ในสายตาของคนทำงานเพื่อผู้พิการในประเทศไทย สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ?

หากพูดถึง SDG จำเป็นจะต้องดูว่าใน 17 เป้าหมาย มีเป้าหมายไหนบ้างที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนภายนอกส่วนใหญ่อาจมองว่า เรื่องของผู้พิการเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา และเรื่องการจ้างงานเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาทุกเป้าหมายตามจริงแล้วในระดับเป้าประสงค์ เรื่องของผู้พิการนั้นแทบจะมีความเกี่ยวข้องกับทุก ๆ เป้าหมาย ผู้พิการมีส่วนร่วมในการผลักดันสิ่งแวดล้อมได้ หากได้รับโอกาส และคิดว่าถ้าทำได้ก็จะเป็นการดี เพราะเป้าหมายสูงสุด ของ SDG คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) แต่ในประเทศไทยยังติดปัญหา “ทิ้งหลาย ๆ คนไว้ข้างหลัง” (leave many people behind) ซึ่งกลุ่มผู้พิการยังคงติดอยู่ในกลุ่มนั้น ปัญหาคือ ตั้งแต่ SDGs มาในปี 2015 ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้า อาจมีแค่การจัดประชุม ซึ่งยังไม่สามารถทำให้ปรากฏเป็นผลลัพธ์ออกมาได้อย่างชัดเจน

คิดว่า SDGs จะใช้เป็นเครื่องมือช่วยผู้พิการในประเทศไทยอย่างไรได้บ้าง ?

การที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามที่จะผลักดันให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจริงนั้น นับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนในประเทศ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายนั้น หากมองในระดับเป้าประสงค์แล้ว ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับผู้พิการแทบจะทุกเป้าหมาย หากประเทศไทยสามารถบรรลุได้ทุกเป้าหมาย ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าถามเรื่องเด่น ๆ สำหรับประเทศไทยก็คงมีเป้าที่:

  • เป้าหมายที่ 4 – สร้างหลักประกันว่าทุกคนรวมถึงผู้พิการจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม
  • เป้าหมายที่ 5 – บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิงผู้มีสภาพพิการ และแม้ว่า SDGs จะมิได้พูดถึงความเท่าเทียมของเพศทางเลือก (LGBT) โดยตรง แต่การสร้างความเท่าเทียมให้กับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพพิการก็มีความสำคัญเช่นกัน
  • เป้าหมายที่ 10 – ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ นั่นเพราะผู้พิการหลาย ๆ คน มีศักยภาพเทียบเท่ากับคนทั่ว ๆ ไป ผู้พิการทุก ๆ คนอยากเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นกับคนทั่ว ๆ ไป
  • เป้าหมายที่ 11 – ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานต่อภัยต่าง ๆ และยั่งยืน ทุกคนต้องไม่ลืมว่าผู้พิการเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางสูง ดังนั้นเมืองควรมีการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ และควรจัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย
  • เป้าหมายที่ 13 – ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
  • เป้าหมายที่ 16 – ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ

สุดท้ายแล้ว หากพูดถึงทางออกเรื่องผู้พิการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน คิดว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน มีจุดไหนบ้างที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้เลย ?

แม้สิทธิของผู้พิการในประเทศไทยอาจยังไม่ดีทัดเทียมกับต่างประเทศเท่าใดนัก สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะหลายอย่างอาจจะยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ แต่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่การใช้ชีวิตของผู้พิการในบ้านเรากำลังถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากกลุ่มคนทำงานที่ตั้งใจจริง ตลอดจนการมีเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า SDGs เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตผู้พิการในประเทศไทยจะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ และเต็มศักยภาพ หรืออย่างน้อยที่สุด คนในสังคมส่วนใหญ่ก็สามารถเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้พิการอย่างที่ควรจะเป็น

สุดท้ายอยากจะให้ทุกคนทราบว่า ผู้พิการก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เพียงแค่มนุษย์คนนี้ขาดความสมบูรณ์ของร่างกายไปบางส่วน เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ทุก ๆ ผู้พิการต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทั่ว ๆ ไปควรจะได้รับ ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษ ไม่ได้ต้องการขอลดค่าโดยสารถ้าระบบขนส่งนั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ไม่ต้องการเงินสงเคราะห์ แต่ต้องโอกาสให้ผู้พิการทำงานอย่างทั่วถึง และสิ่งสำคัญคือทุก ๆ สถานที่นั้นจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงให้คนพิการได้เข้าไปสู่สังคม ได้มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ การศึกษา อาชีพ การเข้าถึงข่าวสารสาระต่าง ๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างที่คนทุกคนควรจะเป็น

148445_1466604232852_4747590_n.jpg

Last Updated on มีนาคม 21, 2020

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น