SDG Insights | บทเรียนจากการระบาดของโควิด-19: เมื่อทัศนคติของคนสิงคโปร์เป็นต้นเหตุ

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี และ ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

ในช่วงที่การระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (Novel Coronavirus) หรือที่รู้จักกันในนาม โควิด-19 (Covid-19) ทั่วโลก ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับภาวะโรคระบาดใหญ่นี้ในช่วงสามเดือนแรก ทว่าในกลางเดือนเมษายน 2020 ประเทศเดียวกันนี้กลับต้องเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงอย่างน่าตกใจโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างชาติ จนทำให้ประเทศสิงคโปร์มีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 

นักวิชาการของไทยจากหลากหลายสำนักไม่ว่าจะเป็น สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ต่างออกมาวิเคราะห์จุดอ่อนต่างๆ ของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นการมีหอพักแรงงานที่แออัด การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การที่มีคนสิงคโปร์กลับมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบทเรียนสำคัญอีกหลายประการ 

อย่างไรก็ตามยังมีอีกปัญหารากหนึ่งที่นักวิชาการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ความสนใจนั่นก็คือทัศนคติของสังคมสิงคโปร์ต่อแรงงานต่างชาติ ทัศนคตินี้เป็นซึ่งตัวแปรที่สำคัญในการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับแรงงาน ดังนั้นชาวสิงคโปร์เองมีส่วนรับผิดชอบต่อการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตรงไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่หลังบ้านฉัน (Not In My Backyard)

Not In My Backyard (NIMBY) คือวลีทางสังคมศาสตร์ที่อธิบายถึงการต่อต้านของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาหรือผลของการพัฒนาด้วยเหตุผลว่าที่ตั้งของโครงการนั้นๆ มาอยู่ในย่านอาศัยของตน อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ประชาชนกลุ่มนี้เห็นด้วยกับการพัฒนาว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ให้เอาไปตั้งไว้ไกลๆ บ้านฉันทีเพราะฉันไม่ต้องการเสี่ยงรับผลกระทบจากมัน ทัศนคติเช่นนี้พบอยู่ทั่วไปแต่จะแสดงออกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะของสังคมนั้นว่า (1) ประชาชนมีเสรีภาพ/อำนาจในการแสดงออกเพียงใด และ/หรือมีขันติธรรม (tolerance) เพียงใด (2) รัฐหรือตัวชุมชนประชาชนเองมีการรับมือจัดการชดเชยให้กับผู้ที่ต้องเสี่ยงรับผลกระทบต่อการพัฒนาในระดับใด

ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ยอมรับกับการเข้ามาของแรงงานต่างชาติจำนวนมาก (เกือบล้านคน) และเข้าใจถึงความสำคัญของแรงงานเหล่านี้ต่อการพัฒนาประเทศของตน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในในสถานที่ก่อสร้าง อู่ต่อเรือ โรงกลั่นปิโตรเคมี หรือแม้แต่พนักงานทำความสะอาด แต่หลายๆ คน กลับไม่ต้องการให้มีการสร้างหอพักอาศัยสำหรับแรงงานใกล้ๆ กับบ้านของตน คนสิงคโปร์ยังมีความคิดที่ว่าแรงงานเหล่านี้สกปรก ไม่มีระเบียบ ไม่มีมารยาท และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมอันนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในสังคมของตน ทั้งๆ ที่อาชญากรรมที่เกิดในสิงคโปร์นั้นก่อโดยชาวต่างชาติไม่ถึงร้อยละ 20 ทัศนคติเหล่านี้สะท้อนออกมาตามสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ที่เสนอข้อความเชิงบ่นและตัดพ้อกับพฤติกรรมของแรงงานข้ามชาติอยู่เป็นระยะ

อนึ่ง มิติเชิงชาติพันธุ์ของแรงงานข้ามชาติมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกระดับของทัศนคติแบ่งแยกโดยชาวสิงคโปร์ ด้วยเช่นกัน แรงงานข้ามชาติรุ่นแรกที่เข้ามาช่วงสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับสิงคโปร์เมื่อยุค 60 นั้นมาจากพื้นที่ที่มีลักษณะทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมไม่ต่างกับประชาชนชาวสิงคโปร์มากนัก ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่หลังจากนั้นไม่นานแรงงานเหล่านี้กลับเป็นที่ต้องการของการพัฒนาในพื้นที่ต้นทางจึงไม่มาทำงานในสิงคโปร์อีก ทำให้สิงคโปร์ต้อง ‘เชิญ’ แรงงานรุ่นที่สองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เมียนมาร์ (พม่า) และไทย และด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในจีนและอินเดียในภายหลัง ทำให้แรงงาน un-skilled ข้ามชาติในสิงคโปร์รุ่นปัจจุบันคือกลุ่มที่มาจากประเทศกลุ่มหลังที่ส่วนมากเป็นเพศชายวัยสิงห์และมีความแตกต่างจากคนในพื้นที่อย่างประจักษ์ชัดเจนทั้งหน้าตาและวัฒนธรรม

ในปีค.ศ. 2007 เกิดมีเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนทัศนคติ NIMBY ในรูปแบบของความเคลื่อนไหวทางสังคม เมื่อภาครัฐของสิงคโปร์มีโครงการที่จะบูรณะพื้นที่โรงเรียนเก่าในเขต Serangoon Gardens ที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีฐานะดี เพื่อเปลี่ยนเป็นหอพักสำหรับแรงงานต่างชาติ ทว่าเกือบ 1,400 ครัวเรือนในพื้นที่ได้ลงนามเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ อีกทั้งยังมีประชาชนกว่า 250 คน ได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงโครงการดังกล่าวด้วย ประชาชนเหล่านี้ไม่ต้องให้แรงงานมาอยู่ในพื้นที่ของเขาเนื่องจากเป็นห่วงถึงความปลอดภัยของเด็กและผู้อาวุโส รวมถึงกังวลว่ามูลค่าของที่อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นี้จะลดลงด้วย กิจกรรมการประท้วงและทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานต่างชาติทำให้หน่วยงานภาครัฐตัดสินใจยกเลิกแผนการสร้างหอพักในย่านที่พักอาศัย ย้ายหอพักสำหรับแรงงานต่างด้าวไปยังพื้นที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัยและซ่อนตัวจากสายตาของชนชั้นกลาง เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นถึงแม้จะทราบกันอยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมและเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระทำต่อคนงานเหล่านี้ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของสิงคโปร์ ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติเชิงลบดังกล่าวอาจส่งผ่านไปยังรุ่นต่อไปของชาวสิงคโปร์ทำให้เกิดความเกลียดกลัวชาวต่างชาติและเสี่ยงต่อความปรองดองทางเชื้อชาติของพลเมืองสิงคโปร์อีกด้วย

บ้านในเขต Serangoon ของประเทศสิงคโปร์


การแยกพื้นที่ของคนงานข้ามชาติออกจากสังคมของพลเมืองสิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก และขยายวงกว้างไปมากกว่าที่พักอาศัยลามไปถึงพื้นที่พบปะสังสรรค์ โดยปกติในประเทศสิงคโปร์จะมีจุดที่แรงงานต่างชาติชอบไปพักผ่อนและพบปะกับเพื่อนร่วมชาติ เช่นที่ ลิตเติ้ลอินเดีย (Little India) ห้างสรรพสินค้าลัคกี้ พลาซ่า (Lucky Plaza) และห้างสรรพสินค้าโกลเด้น ไมล์ คอมเพล็กซ์ (Golden Mile Complex) นักวิชาการลงความเห็นว่าพื้นที่นันทนาการเหล่านี้มีความสำคัญต่อแรงงานต่างชาติเนื่องจากเป็นที่พักผ่อนหย่อนคลาย และมากกว่านั้นคือได้มีเสรีภาพส่วนบุคคล (จากนายจ้าง) ทว่า กระแสต่อต้านแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมาทำให้ภาครัฐต้องจัดหาพื้นที่สันทนาการทางเลือกให้กับแรงงานต่างชาติภายในบริเวณพื้นที่พักอาศัยที่อยู่นอกใจกลางเมืองอยู่แล้ว เริ่มเกิดเป็นภาพการกีดกันแบ่งแยกเชิงพื้นที่อย่างชัดเจน (socio-spatial segregation)

จุดรอรถประจำทางหน้าห้างสรรพสินค้า ลัคกี้พลาซ่า 


มุมมองการแบ่งแยกนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นหลักจากการก่อความไม่สงบที่ ลิตเติ้ลอินเดีย (Little India)

การจลาจล ที่ ลิตเติ้ลอินเดีย (Little India)

การจลาจลในปีค.ศ. 2013 เป็นการจลาจลครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยคนงานต่างชาติราว 400 คน ได้รื้อทำลายข้าวของ จุดไฟเผารถยนต์ที่อยู่ใกล้เคียง และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากทั้งสองฝ่าย เหตุเกิดปะทุขึ้นจากกรณีแรงงานชาวอินเดียรายหนึ่งโดนรถโดยสารประจำทางไล่ขับชนจนเสียชีวิต หลังการจลาจลดังกล่าวผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณนี้ต่างก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ แม้ภาครัฐจะคำนึงถึงความสำคัญของลิตเติ้ลอินเดียในฐานะพื้นที่ทางสังคมของแรงงานโดยเฉพาะชาวเอเชียใต้ แต่ด้วยแรงกดดันจากสังคมสิงคโปร์ รัฐบาลจำต้องออกนโยบายเพื่อลดจำนวนแรงงานอพยพที่จะเข้ามาในลิตเติ้ลอินเดีย ซึ่งมีการคะเนว่าแรงงานชาวเอเชียใต้กว่า 100,000 คนที่เข้ามาเที่ยวลิตเติ้ลอินเดียทุกวันอาทิตย์

การจลาจล ที่ ลิตเติ้ลอินเดีย เมื่อปีค.ศ. 2013


หอพักแรงงานขนาดใหญ่

เหตุผลที่แรงงานเอเชียใต้นิยมมาลิตเติ้ลอินเดียก็เพราะว่าสินค้าและบริการต่างๆ นั้นมีราคาถูกกว่าที่อื่น  ดังนั้นเพื่อที่จะลดจำนวนคนที่จะเดินทางเข้ามาในลิตเติ้ลอินเดีย รัฐบาลต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการหอพักเพื่อนำร้านค้าและบริการราคาถูกมาตั้งใกล้กับหอพัก รวมถึงการร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานสันทนาการ เช่น ร้านอาหาร ลานเบียร์ สนามกีฬา และโรงภาพยนตร์ เพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางในช่วงวันหยุดอีกด้วย

เช่นเดียวกับรัฐบาลทุนนิยมทั่วโลก การดำเนินการโครงการใหม่จะต้องสร้างผลกำไรให้กับประเทศ และเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้จะสร้างผลกำไร ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนจากหอพักขนาดเล็กที่รองรับผู้อยู่อาศัยประมาณได้ประมาณ 50 ถึง 60 คน ไปเป็นหอพักขนาดใหญ่ที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก บางห้องอาจจะมีคนอยู่ร่วมกันถึง 12 ถึง 20 คน ทั้งนี้ก็เพราะจำนวนผู้อยู่อาศัยที่มากขึ้นหมายถึงจำนวนลูกค้าสำหรับร้านค้าและกำไรที่มากขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ความแออัดดังกล่าวยังไม่ได้กล่าวถึงสภาวการณ์ที่นายจ้างนำแรงงานเข้ามาเป็นจำนวนมากกว่าความจุของหอพักที่ได้รับอนุญาตจริง

แน่นอนว่าความแออัดในหอพักส่งผลผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 กรณีของหอพัก S11 ที่มีผู้พักอาศัยมากกว่า 13,000 คนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน S11 ถูกออกแบบมาเพื่อเติมเต็มบทบาทของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและความบันเทิงในช่วงสุดสัปดาห์ในหมู่แรงงาน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าแรงงานต่างชาติจะไม่รบกวนโครงสร้างทางสังคมของสิงคโปร์ ทว่าการที่มีคนอยู่มากๆ ในพื้นที่แคบๆ ก็ทำให้การเว้นระยะห่างทำได้ยาก ณ วันที่ 20 เมษายน 2020 จึงพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ใน S11 ที่เดียวถึง 979 คน 

รูปจาก Theindependent.sg


แม้หอพักเหล่านี้มีกฎระเบียบแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการระบาดของโรคและการอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มีจะประสิทธิภาพจริงด้วยธรรมาภิบาลที่อยู่บนฐานของทัศนคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ

รายงานตั้งแต่ปีค.ศ. 1996 โดย Ofori ยืนยันว่าหอพักสำหรับแรงงานต่างชาตินั้นมีมาตรฐานหลากหลาย ตั้งแต่สภาพดีและสภาพที่น่าขยะแขยง การตรวจสอบควบคุมมาตรฐานคุณภาพที่อยู่อาศัยเหล่านี้ก็เป็นไปอย่างหละหลวมขอไปที ธรรมเนียมการปฏิบัติเช่นนี้ยาวนานมาและถูกยืนยันอีกครั้งในงานศึกษาของผู้เขียนเองที่เผยแพร่ปีค.ศ. 2013 ผ่านมูลนิธิ Transient Workers Count too (TWC2) ที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ที่ให้สัมภาษณ์ถึงสภาพความเป็นอยู่ในหอพักแรงงานว่ายังคงมีสภาพเยี่ยงสลัม และหอพักหลายที่ไม่อาจเรียกว่าห้องพักได้เพราะคนงานต้องแบ่งกันนอนในตู้คอนเทนเนอร์ในบริเวณท่าเรือ ซึ่งชัดเจนว่าไม่น่าจะได้รับการจดทะเบียนเป็นหอพักกับรัฐบาล และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้จมูกของ “การตรวจสอบ” ของภาครัฐ

ไม่มีทางที่สุดยอดรัฐอย่างรัฐบาลสิงคโปร์จะไม่ทราบถึงสภาวะเงื่อนไขของแรงงานผู้อพยพในมิติที่อยู่อาศัยและความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดทั่วโลก กลุ่มสิทธิแรงงานอพยพได้ออกมาเตือนรัฐบาลและประชาชนทั่วไปเป็นเวลาหลายปีว่าสภาพที่แออัดและมีผู้คนหนาแน่นเป็นสภาวะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายขนาดใหญ่หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือโรคระบาด อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนสิงคโปร์ ไม่ต้องการให้กลายมาเป็นพลเมืองสิงคโปร์ สังคมจึงเลือกที่จะเพิกเฉย ทัศนคติดังกล่าวจึงเป็นต้นตอของการแบ่งแยกในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่เราเห็น

บทสรุป

จริงอยู่ที่การสร้างที่อยู่อาศัยอย่างแออัดเพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและบริษัทแรงงานดังกล่าวทำให้การกระจายตัวของโควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กระนั้นชาวสิงคโปร์เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องจากการมีทัศนคติในเชิงลบต่อแรงงานต่างชาติ ชาวสิงคโปร์ได้รับประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้มาเป็นเวลานานแต่ก็กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของพวกเขา และไม่ต้องการที่จะใช้ชีวิตร่วมกับแรงงานเหล่านี้ เริ่มแรกด้วยการผลักดันให้แรงงานจากต่างแดนให้ไปพักยังบริเวณชายขอบของเกาะ ซึ่งห่างไกลจากเขตเมืองและเขตที่อยู่อาศัย และลดการติดต่อระหว่างประชาชนและแรงงานต่างชาติ ผลที่ตามมาจึงเป็นภาพของการถูกขับไสและจำกัดทั้งทางพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพและเชิงเศรษฐกิจสังคม แรงงานอพยพที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในเขตหอพัก การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกหอพักถูกลดให้น้อยลงโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ นอกจากนี้การลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรดาแรงงานและสังคมโดยรอบทำให้พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายและความช่วยเหลือต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 แรงงานที่ติดเชื้อไวรัสก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายทำให้เขาเหล่านี้แพร่เชื้อโรคไปยังคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ

เฉกเช่นเดียวกับเป้าหมายสูงสุดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กรณีของสิงคโปร์นี้อย่างน้อยที่สุดก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเป้าหมายที่ 10 ว่าด้วยความเสมอภาค ต่อเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยสุขภาวะได้ในอีกบริบทหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ (เป้าประสงค์ที่ 10.2) จนเกิดเป็นการแบ่งแยกทั้งเชิงพื้นที่และคุณภาพชีวิต จนเกิดผลกระทบต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีของทุกคนในสิงคโปร์ สืบเนื่องไปถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเป้าหมายที่ 8 เพราะเมื่อแรงงานที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจเกิดป่วยเป็นและต้องกักตัวจำนวนมากไม่สามารถไปทำงานได้ กลไกการเติบโตก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้

หลังจากการระบาดอย่างหนัก รัฐบาลสิงคโปร์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลแรงงานต่างชาติให้ดีกว่าเดิม ทว่าการปรับทัศนคติของประชาชนทั่วไปอาจจะเป็นไปได้ยาก บทเรียนที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์อาจจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยควรทำความเข้าใจและนำมาปรับใช้ร่วมกับกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยเองก็มีประชากรกลุ่มนี้อยู่ในประเทศอยู่กว่า 4 ล้านคนและยังจำต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติต่อไปในอนาคตเหมือนกับสิงคโปร์

อ้างอิง

  1. Theindependent.sg: http://theindependent.sg/morning-brief-covid-19-update-for-april-19-2020/
  2. กรุงเทพธุรกิจ: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877031
  3. มติชน: https://www.matichon.co.th/covid19/news_2149520
  4. Chivakidakarn, Y., 2013, “Social segregation in Singapore: case of the construction guest workers,” Territorio, 65: 52-59. 
  5. Kopi: https://thekopi.co/2020/04/13/mega-dorms-explained/?fbclid=IwAR2pmZfL3ohWPVHl_TAcf1Qvzhmfj1LeZHl7GzuQobwjDqwjHxkWb_t4L3U
  6. Ofori, G., 1996, “Foreign Construction Workers in Singapore”, International Labor Office: Geneva. 

Credit: Featured Image
FILE PHOTO: Migrant workers look out from their balconies at Punggol S11 dormitory, during the coronavirus outbreak (COVID-19) in Singapore April 6, 2020. REUTERS/Edgar Su https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-singapore-migrants-idUSKBN2230RK

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น