เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
ช่วงที่ผ่านมา โลกอาจจะเดินหน้าผลักดันประเด็นการให้มีพลังงานที่มีคุณภาพ ราคาถูก สะอาด และทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่เต็มที่นัก และการไปสู่เป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ก็เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าทิศทางการให้ความสนใจเรื่องพลังงานสะอาด (Clean Energy) ในปี 2564 มีมากขึ้น สังเกตได้จากความพยายามพูดคุยทางการเมืองและเป็นเรื่องที่นึกถึงลำดับต้น ๆ เมื่อพูดถึงการลงทุน
ทิศทางตอนนี้ที่เปลี่ยนไปก็อย่างเช่น พลังงานฟอสซิลซึ่งเคยถูกกว่าพลังงานทดแทน (Renewable energy) ปัจจุบันอาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว พลังงานทดแทนมีราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ ในแต่ละปี และบางประเภทก็ถูกลงกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว หรือกล่าวได้ว่า พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ในตอนนี้เป็นแหล่งไฟฟ้าที่ถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกมากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยซ้ำ นอกจากจะเป็นเรื่องของราคา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจนวัตกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่ UNDP เองได้เสนอให้ภาครัฐและภาคธุรกิจลงทุนด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่
ทำไมการใช้พลังงานสะอาดถึงสำคัญ? เพราะว่าเราอยู่ในสังคมเมืองที่เติบขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารต่าง ๆ ระบบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความอุ่นก็ควรจะคำนึงถึงความยั่งยืน การวางแผนเมืองอัจฉริยะ และทางเลือกในการคมนาคมที่ยั่งยืน “ความยั่งยืน” ในสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับ “เมือง” ในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่าการใช้พลังงานสะอาดยังเป็นวิธีการที่สามารถช่วยให้ประเทศฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ อาทิ การจ่ายแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพให้กับส่วนงานด้านสุขภาพในประเทศที่ยากจนที่สุดที่จะต้องให้บริการด้านสาธารณสุขในภาวะที่ยากลำบากนี้ รวมไปถึงยังมีความสามารถในการกักเก็บวัคซีนในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียสได้ด้วย
ขณะที่ การแสดงความมุ่งมั่นของบรรดาประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในปริมาณมาก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ได้ให้คำมั่นที่จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) ซึ่งหมายถึงว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในปริมาณเท่าไรต่อปี ก็ควรช่วยกันจำกัดในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่ปล่อยนั้น เฉกเช่นเดียวกับที่ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพาสหรัฐอเมริกากลับมาร่วมความตกลงปารีสอีกครั้ง ทั้งหมดถือเป็นสัญญาณที่ดี ทว่านอกเหนือจากการให้คำสัญญาว่าจะดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่จำเป็นคือการนำความมุ่งมั่นเหล่านั้นไปลงมือปฏิบัติกันจริง ๆ โดยไม่เพียงคำนึงถึง “ความยั่งยืน” เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึง “ความเป็นธรรม” ด้วย
โดยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 นี้ สหประชาชาติจะจัดการพูดคุยระดับสูงว่าด้วยเรื่องพลังงาน (High Level Dialogue on Energy) ให้ประเทศต่าง ๆ ภาคประชาสังคม องค์การและสถาบันระหว่างประเทศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันและลงมือปฏิบัติในเรื่องพลังงานที่ยั่งยืน UN-Energy เห็นควรให้มีการพูดถึงการกำกับดูแลพลังงานในระดับโลก ด้วยมองว่าพลังงานสะอาดจะช่วยให้สามารถเข้าถึงการใช้พลังงานกันได้ทุกคนและช่วยในเรื่องวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศในขณะเดียวกัน
และนี่คือประเด็นที่มีการพูดถึงกันล่าสุดเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยเรื่องของปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
แหล่งอ้างอิง: https://news.un.org/en/story/2021/01/1081272
#SDGWatch #IHPP #SDG7 #SDG13
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021