เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
เครือธนาคารโลก เผยแพร่ “รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เดือนมกราคม 2564 (Global Economic Prospects, January 2021)” โดยชี้ว่า แม้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวและเติบโตร้อยละ 4 ในปี 2564 แต่ทว่าเศรษฐกิจที่หยุดชะงักอย่างต่อเนื่องและตกต่ำอันเป็นผลมาจากโควิด-19 โดยหดตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2563 (นับเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่รุนแรงที่สุดอันดับสี่ในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา!) กอปรกับประเด็น อาทิ ความล่าช้าในการนำวัคซีนไปใช้โดยเฉพาะการที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจมีความสามารถในการฉีดวัคซีน “ช้ากว่า” เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเป็นจุดที่บ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง (a substantial headwind to activity) รวมไปถึงการที่บรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีหนี้เพิ่มขึ้น ทั่วโลกมีประเด็นเรื่องความท้าทายในเชิงนโยบาย/มาตรการ ความเสี่ยงบางประการสำหรับแต่ละพื้นที่ และความอ่อนไหวเชิงโครงสร้างในการเติบโต (structural weaknesses in growth) ล้วนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเปราะบางและทิศทางความก้าวหน้าเป็นไปอย่างช้า โดยประเมินว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกอาจจะต่ำกว่าแนวโน้มที่ได้ประเมินไว้ก่อนการระบาดของโรคที่มากกว่าร้อยละ 5 และการขยายตัวที่ต่ำกว่าแนวโน้มจะยังคงเป็นไปเช่นนี้อย่างน้อยจนถึงปี 2568
โดยภาพรวม ตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging markets and developing economies: EMDE) มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคขึ้นใหม่ ยังคงมีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจากระดับหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งทำให้เกิดความเครียดทางการเงิน ซึ่งเป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ไกลกว่าประเด็นการระบาดของโรคแล้ว แต่มีทั้งเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และการเป็นหนี้ที่รวดเร็วและมากขึ้น เป็นต้น
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะฉาย “ความแข็งแกร่ง” ในการพัฒนาในปี 2564 แต่ทว่าการฟื้นตัวในแต่ละแห่งหนต่างส่งผลให้มีการฟื้นตัวในจีน สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ตลอดจนแถบแอฟริกาซับซาฮารา คาดว่ามีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมากที่สุด ขณะที่ผู้ที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและสินค้าอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงเป็นพิเศษเนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุตสาหกรรมลดลง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้รายงานมีการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่มีภูมิคุ้มกัน (resilient) และเท่าเทียมกันมากขึ้น
นอกจากนี้ รายงานได้เน้นย้ำว่า “รัฐบาล ครัวเรือน และบริษัทต่าง ๆ ต้องยอมรับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป” และมุ่งให้มีการปฏิรูปอย่างแข็งขัน พร้อมกันนี้จึงชี้ทางเลือกการปฏิรูปสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มจำนวนแรงงาน และการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดให้ประเด็น อาทิ การสนับสนุนกลุ่มที่เปราะบาง และการสร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและครอบคลุม เป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ทศวรรษของความผิดหวัง” (a decade of disappointments)
สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่สนใจประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจ พรุ่งนี้ (21 มกราคม 2564) เวลา 9.00 – 10.00 น. สามารถติดตามงานเปิดตัว “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย” ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ผ่าน Facebook Live โดยผู้เชี่ยวชาญจะมาร่วมวิเคราะห์ถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย รวมถึงถกแนวทางสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาวในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
รายละเอียดกิจกรรม ดูที่ https://www.facebook.com/events/687236045294181/
อ่านรายงานฉบับเต็มที่:
https://www.worldbank.org/en/publication/global-economic-prospects
แหล่งอ้างอิง:
#SDGWatch #IHPP #SDG1 #SDG8 #SDG9 #SDG10 #SDG17
Last Updated on มกราคม 12, 2022