สานต่อจากรากฐาน ’ข้อตกลงปารีส’ (Paris Agreement) และ ‘European Green Deal’ โรดแมปการจัดการภาวะโลกร้อน ยุโรปได้ออกแผนงานหมุดหมายใหม่ของการบินเพื่อความยั่งยืน ‘Destination 2050 – A Route to Net Zero European Aviation’ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวของวงการการบินในภูมิภาคยุโรป (pan-European) ที่มาพร้อมกับการเสนอทางออกที่ชัดเจน เป็นการเน้นย้ำทำตามคำสัญญาที่ประกาศไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมากับประเด็นการฟื้นตัวการบินยุโรปซึ่งได้เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมใน ’ข้อตกลงสหภาพยุโรปเพื่อการบินที่ยั่งยืน’ (EU Pact for Sustainable Aviation) โดยสนับสนุนให้เที่ยวบินพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและที่บินจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) พยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนยภายในปี 2593 และในระยะแรก ภายในปี 2573 (2030) คาดว่าเที่ยวบินภายในยุโรปเองจะลดการปล่อยก๊าซได้ที่ 55%
ซึ่งการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์นั้น เกี่ยวข้องกับทุกองคาพยพในวงการการบินยุโรป ทั้งสายการบินของยุโรป สนามบิน ผู้ผลิตเครื่องบินและที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการการสัญจรทางอากาศ เพื่อทำให้มั่นใจว่าการเดินทางทางอากาศภายในยุโรปเองและที่มุ่งหน้าไปส่วนอื่นของโลก เกิดความยั่งยืนได้ในระยะยาว
โดยแผนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้ก็ด้วยมาตรการสำคัญ 4 มาตรการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศ ปี 2573 (EU Climate Goals 2030) ที่ขึ้นอยู่กับนโยบายและกรอบทางการเงินของสหภาพยุโรปและในระดับประเทศ และการที่จะรักษาความยั่งยืนไปพร้อมกับความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ จะต้องเป็นการประสานความร่วมมือและการตัดสินใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากภาคการบินเองจะต้องเร่งลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้กับพลังงานที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และนวัตกรรม ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีความสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการบินให้เปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ พร้อมลดความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยกรอบนโยบายที่มีเสถียรภาพนั่นเอง
และมาตรการสำคัญทั้ง 4 มาตรการ มีดังนี้
- การปรับปรุงเทคโนโลยีอากาศยานและเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 37%
- การใช้พลังงานการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAFs) ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 34%
- การใช้มาตรการด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 8%
- การปรับปรุงการบริหารจัดจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management: ATM) และการใช้งานอากาศยาน ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 6%
‘การเร่งดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน #SDG13 ว่าด้วยการลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ เป้าประสงค์ที่ 13.2 กล่าวถึงการบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ และเป้าประสงค์ที่ 13.3 กล่าวถึงการพัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า’
อ่านรายงานฉบับเต็มที่:
แหล่งที่มา:
https://www.destination2050.eu/
https://www.traveldailynews.com/post/europes-aviation-sector-launches-ambitious-plan-to-reach-net-zero-co2-emissions-by-2050
#SDGWatch #ihpp #SDG13
Last Updated on กุมภาพันธ์ 19, 2021