เลขาธิการ UN เน้นย้ำว่า “ความหลากหลายคือความรุ่มรวย ไม่ใช่ภัยคุกคาม” เพื่อต่อต้านกระแสความเกลียดชังที่มีต่อคนมุสลิม

ข้อความของ António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ เนื่องในโอกาสวันต่อต้านความหวาดกลัวอิสลามสากล (International Day to Combat Islamophobia) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา กล่าวย้ำว่า “ความหลากหลายคือความรุ่มรวย ไม่ใช่ภัยคุกคาม” พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มการลงทุนในการส่งเสริมสังคมสมานฉันท์และจัดการกับความเชื่อรั้นคลั่งฝั่งหัว (bigotry)

“เราต้องผลักดันนโยบายที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอัตลักษณ์ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของมนุษย์อย่างเต็มที่” เขากล่าวในวิดีโอระหว่างงานรำลึกออนไลน์ซึ่งจัดโดยองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) ที่มีสมาชิกเกือบ 60 ประเทศ

เลขาธิการอ้างถึงรายงานที่เสนอต่อ UNHCR พบว่าการเลือกปฏิบัติและความเกลียดชังที่มีต่อคนมุสลิมเพิ่มขึ้นราวกับการแพร่ระบาดของโรค ตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดที่มีต่อการแสดงความเชื่อของชาวมุสลิมที่มากเกินไป ข้อจำกัดในการขอสัญชาติ และการตีตรา (stigmatization) ชุมชนมุสลิม การศึกษาชี้ให้เห็นอีกว่า ผู้หญิงมุสลิมต้องเผชิญกับ “การเลือกปฏิบัติสามระดับ” ทั้งจากเพศ เชื้อชาติ และศาสนา

การเพิ่มขึ้นความเชื่อรั้นฝังหัวต่อต้านมุสลิม เป็นไปทางเดียวกับแนวโน้มที่น่ากังวลอื่นๆ เช่น การกลับมาของ ชาติพันธุ์นิยม (ethnonationalism)  ลัทธินีโอนาซี (neo-Nazism) การตีตราและการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มประชากรบางกลุ่ม โดยเลขาธิการยังเสริมว่า “เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา เราต้องการการลงทุนทางการเมือง ทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างสังคมสมานฉันท์และต่อสู้กับความเชื่อรั้นคลั่งฝั่งหัว”

เลขาธิการใหญ่ย้ำว่าการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวคนต่างชาติ เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินงานสำหรับองค์การสหประชาชาติ

ความเกลียดชังต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความเชื่อและศาสนา เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในประเด็น ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ (10.2) และ
เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ ในประเด็น การลดความรุนแรงทุกรูปแบบ (16.1) และส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (16.b)

ที่มา: UN News

Last Updated on มีนาคม 26, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น