ผู้ติดเชื้อ HIV ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART)

นักวิจัยศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย Vanderbilt และสถาบันต่าง ๆ จาก 7 ประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลางในภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมถึงแถบแคริบเบียน ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี ฮอนดูรัส เม็กซิโก เปรู และเฮติ ศึกษาผู้ติดเชื้อ HIV จำนวน 30,688 คน ตลอดช่วง 14 ปีระหว่าง พ.ศ. 2546 – 2560 พบว่า ผลสำเร็จจากยุคของ ‘การรักษาทุกคน’ (treat all) ปี 2556 – 2560 กับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (Antiretroviral therapy – ART) ให้ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะติดเชื้ออยู่ระยะใด นอกจากหน้าที่ของยาตัวนี้จะสามารถหยุดยั้งการขยายพันธุ์ของไวรัส ลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อได้แล้ว ยังทำให้คนกลุ่มนี้มี ‘ชีวิตที่ยืนยาวขึ้น’ ด้วย

ในช่วงปีที่ทำการศึกษานั้น พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิต 2,637 คน ในจำนวนนี้คือ 1,167 คนจาก 6 ประเทศในลาตินอเมริกา และ 1,470 คนในเฮติ จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป อัตราการเสียชีวิตลดต่ำลงในทุกช่วงอายุ โดยสำหรับ 6 ประเทศนั้น อายุขัยเฉลี่ยของผู้ที่ติดเชื้ออายุ 20 ปีที่เข้ารับการรักษา ยืนยาวขึ้นจาก 51 ปี ในช่วง 2546 เป็น 70 ปี ในช่วง 2560 ส่วนเฮติ ยืนยาวขึ้นจาก 34 ปี เป็น 61 ปี ขณะที่ อายุขับเฉลี่ยของประชากรทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อเลยสำหรับ 6 ประเทศนั้นอยู่ที่ 78 และสำหรับเฮติอยู่ที่ 70 ปี แสดงให้เห็นว่าอายุขัยเฉลี่ยของกลุ่มผู้ติดเชื้อนั้นยืนยาวขึ้นมากจนเกือบเทียบเท่าอายุขัยเฉลี่ยทั่วไปแล้ว

ทั้งนี้ แม้ว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งจะมาจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่ว่ายังคงมีประเด็นอยู่บางประการที่จะต้องเร่งแก้ไข อย่างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา แสดงให้เห็นผ่านอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะน้อยลง และยังไม่เท่าเทียมกันแม้แต่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเองด้วยโดยอาจเป็นผลมาจากเพศสภาพ ปัจจัยความเสี่ยงต่อโรค ระดับการศึกษา ประวัติการมีโรคอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเจตจำนงค์ทางการเมืองที่จะรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ในภูมิภาคนี้ที่มักไม่เสมอต้นเสมอปลายนักตามคำอธิบายของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และประเด็นความรู้สึกเป็นมลทิน-ตราบาปติดตัวของผู้ติดเชื้อ เพราะสังคมส่วนหนึ่งอาจยังไม่เข้าใจ ไม่กล้าเข้าใจหรือสนับสนุนอย่างที่ 1 ใน 3 ของชาย-หญิงอายุ 15-49 ปี ไม่ไปซื้อผักจากร้านค้าที่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นนั้นได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการผลักดันระบบสาธารณสุขและการป้องกันโรคที่ต้องแข็งขันในการตอบสนองต่อเชื้อ HIV

เข้าถึงรายงานการศึกษาที่:
The Lancet – Life-expectancy with HIV in Latin America and the Caribbean, May 1, 2021

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (3.3)ยุติการแพร่กระจายของโรคเอดส์และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573 และ (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเด็นให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้

แหล่งที่มา:
https://news.vumc.org/2021/04/21/study-finds-dramatic-gains-in-life-expectancy-for-people-with-hiv-in-latin-america/
https://www.openaccessgovernment.org/hiv-patients-in-latin-america/109008/

Last Updated on พฤษภาคม 2, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น