นาย Chee Hong Tat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลจะมีการทบทวนกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการขับขี่จักรยานบนท้องถนน เนื่องจากจำนวนผู้ขับขี่จักรยานเพิ่มมากขึ้น โดยในบรรดามาตรการที่กำลังศึกษาโดย Active Mobility Advisory Panel หรือ คณะที่ปรึกษารูปแบบการเดินทางโดยใช้แรงกายเป็นหลัก คือ ความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้นักปั่นจักรยานทุกคนต้องมีใบอนุญาติขับขี่ และต้องมีการจดทะเบียนจักรยานทุกคัน แต่ยังคงมีข้อกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ยุ่งยากมากขึ้น อาจทำให้คนปั่นจักรยานน้อยลง
สิงคโปร์เคยมีข้อบังคับให้จดทะเบียนจักรยานทุกคันแต่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่เมื่อปี 1982 ต่อมาในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมามีประชาชนเรียกร้องให้กลับมาบังคับใช้กฎนี้และให้ผู้ขับขี่จักรยานทุกคนต้องมีใบอนุญาต เพื่อควบคุมนักปั่นที่ทำผิดกฎจราจรและสร้างความเสี่ยงให้เพื่อนร่วมถนน
องค์การขนส่งทางบกของสิงคโปร์ กล่าวว่า พวกเขาได้ทำการศึกษาการออกใบอนุญาต ‘อย่างรอบคอบ’ แต่อ้างถึง ‘ปัญหาในทางปฏิบัติ’ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะระบบการขอใบอนุญาตขับขี่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก องค์การขนส่งทางบกฯ มีความกังวลใจว่ากระบวนการที่ลำบากเกินไปเหล่านี้อาจทำให้ผู้ขับขี่จักรยานในเมืองลดลง
Dr. Cecilia Rojas อาจารย์จาก Singapore University of Social Sciences (SUSS) ที่ทำงานวิจัยด้าน active mobility ได้วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของมาตรการจดทะเบียนจักรยานและการขอใบขับขี่จักรยาน ดังนี้
การจดทะเบียนจักรยานมีข้อดีเพราะจะเป็นการบังคับใช้กฎระเบียบด้านความปลอดภัยบนท้องถนนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดกรณีการโจรกรรมจักรยานหรือการจอดจักรยานทิ้งไว้ในที่สาธารณะอย่างผิดกฎหมาย
สำหรับข้อเสียคือ การทำใบอนุญาตขับขี่อาจไม่รองรับนักปั่นทุกประเภท และการจดทะเบียนจักรยานอาจมีปัญหาในการดำเนินการจริงเพื่อจดทะเบียนจักรยานประเภทต่างๆ กัน หรือหากมีการดัดแปลงจักรยาน ซึ่งทำกันเป็นปกติ เช่น เปลี่ยนเฟรม หรือ มือจับเจ้าของจำเป็นจะต้องแจ้งจดทะเบียนใหม่ทุกครั้งหรือไม่
Dr. Cecilia Rojas เสริมว่า การลงทุนให้การศึกษาด้านการความปลอดภัยบนท้องถนนจะช่วยให้ผู้ใช้จักรยานได้รับความปลอดภัยได้มากกว่าแค่การบังคับสอบภาคทฤษฎี โดยภาระของการศึกษานี้ ไม่ควรตกอยู่กับนักปั่นจักรยานเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนให้ “รับทราบ เคารพ และอยู่ร่วมกัน” อย่างปลอดภัย
นาย Francis Chu อดีตสมาชิก Active Mobility Advisory Panel แนะนำว่า ควรให้นักปั่นจักรยานทำการทดสอบออนไลน์เกี่ยวกับวิธีการขับขี่จักรยานอย่างปลอดภัยบนท้องถนน และผู้ขับขี่รถยนต์ก็ควรให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อนักปั่นบนท้องถนน และการใช้ถนนร่วมกัน เช่นกัน และควรมีการจำกัดความเร็วการใช้ถนนในบางพื้นที่ โดยสนับสนุนตัวเลขความเร็วสำหรับพื้นที่ที่มีคนเดินเท้าและยานพาหนะใช้ร่วมกัน ที่ 30 กม./ชม. ตามแคมเปญ Decade of Action for Road Safety ขององค์การสหประชาชาติ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วนจักรยาน เพิ่มเติม
ขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยคมนาคมที่ยั่งยืน อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก (3.6) - SDG 11 เมืองและชุมชนยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน (11.2)
ที่มา: CNA
Last Updated on พฤษภาคม 6, 2021