นักวิจัยวิเคราะห์ผลของโครงการ Breakfast After the Bell ที่จัดอาหารเช้าฟรีให้นักเรียนที่ไม่สามารถไปถึงโรงเรียนก่อนชั้นเรียนเริ่มได้ (โดยปกติมีอาหารเช้าบริการแและต้องรับประทานให้เสร็จก่อนชั้นเรียนเริ่มเท่านั้น) ในโรงเรียนในกำกับรัฐบาลในเขตยากจนพิเศษ (High-poverty schools) ประจำรัฐโคโลราโดและเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเชื่อมโยงกับการลดจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
Breakfast After the Bell หมายถึง การจัดให้มีอาหารเช้าให้นักเรียนทุกคนหลังชั้นเรียนเริ่ม และให้เวลาเหมาะสมเพื่อให้นักเรียนรับประทานให้เสร็จ
การศึกษาพิจารณาระดับของการขาดเรียนในปีการศึกษา 2013-2014 ก่อนเข้าร่วมโครงการ Breakfast After the Bell และในปีการศึกษา 2015-2016 หลังเข้าร่วมโครงการ โดยให้ทุกโรงเรียนในกำกับรัฐบาลในเขตยากจนพิเศษ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ร้อยละ 75 หรือมากกว่าของนักเรียนสามารถขอรับการสนับสนุนอาหารกลางวันฟรีหรือในราคาพิเศษได้เข้าร่วมโครงการ ทั้งหมดมีจำนวนประมาณ 25% ของโรงเรียนในสองรัฐ
พบว่าจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนต่อเนื่อง คือ ขาดเรียน 15 วันหรือมากกว่าต่อปีการศึกษาลดลงหลังจากโรงเรียนเข้าร่วมโปรแกรม โดยเฉลี่ยแล้วอัตราขาดเรียนต่อเนื่องลดลง 8% โดยโรงเรียนระดับมัธยมปลายมีอัตราการลดลงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมตอนต้น
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอเป็นส่วนประกอบสำคัญของความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียน ดังนั้น การเพิ่มความสะดวกและให้บริการอาหารเช้าที่โรงเรียนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่พึ่งพาอาหารจากโรงเรียนเป็นหลัก
จากสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่มีรายได้น้อย และชุมชนคนผิวสีเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้สถานะเศรษฐกิจในครัวเรือนแย่ลง ทำให้การกลับมาเรียนที่โรงเรียนสำหรับนักเรียนบางกลุ่มทำได้ยากขึ้น ข้อค้นพบจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าวิธีหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กมาเข้าเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ยังให้เด็กได้รับประทานอาหารเช้าด้วย คือการนำโปรแกรมอาหารเช้า เช่น Breakfast After the Bell มาใช้
นักวิจัยสามารถค้นพบว่าโครงการ Breakfast After the Bell เชื่อมโยงกับการลดจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนต่อเนื่องได้จริง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยอาจเป็นไปได้ว่านักเรียนหรือครอบครัวของนักเรียนมีแรงจูงใจในการมาโรงเรียนมากขึ้นเนื่องจากมีอาหารเช้าเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน หรืออาจเป็นเพราะโครงการเช่นนี้ ที่มีอาหารเช้าให้นักเรียนทุกคน ช่วยลดความรู้สึกอับอายของผู้ได้รับ ต่างกับโครงการให้อาหารเช้าฟรีเฉพาะนักเรียนบางคนเท่านั้น และยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การให้นักเรียนทานอาหารเช้าแยกตามห้องเรียนเล็กๆ ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ทำให้นักเรียนเจ็บป่วยจนต้องขาดเรียนอีกด้วย
ในประเทศไทย มีโครงการนำร่องให้อาหารเช้าฟรีสำหรับนักเรียนที่โรงเรียน โดยสามารถทำให้เด็กกลับมาเข้าชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอได้จริง โดยเป็นโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค ของ กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อาหารเช้า ดึงเด็กกลับมาเรียนได้ 100%
โครงการอาหารเช้าสำหรับนักเรียน เพื่อลดการขาดเรียน อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 1 ยุติความยากจน ในประเด็น ใช้ระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อลดความยากจน (1.3)
- SDG 2 ขจัดความหิวโหย ในประเด็น การเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการ (2.1) ยุติภาวะทุพโภชนาการ (2.2)
- SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ในประเด็น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กชายและเด็กหญิงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย (4.2), ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (4.1)
ที่มา: The Conversation
Last Updated on พฤษภาคม 7, 2021