คู่มือ Healthy Cities and Communities Playbook เป็นผลงานชิ้นสำคัญจากโครงการริ่เริ่ม Healthy Cities and Communities Initiative โดย World Economic Forum ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อกันยายน 2019 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในองค์รวม ให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีในสภาพแวดล้อมชุมชนที่ตนอาศัย ผ่านการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในเชิงรุกที่จะช่วยให้ผู้บริโภคในเมืองมีตัวเลือกวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
คู่มือฉบับนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลจากโครงการริเริ่มดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างของความรู้และประสบการณ์ในระดับเมืองในการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในเมือง/ชุมชนในองค์รวม โดยมีชุดเครื่องมือและแผนงานให้ผู้นำเมืองปรับใช้เพื่อสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชากรในเมืองมีชีวิตที่มีสุขภาพดีได้
โดยนิยามของ ‘สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี’ จากโครงการริเริ่ม Healthy Cities and Communities คำนึงถึงมิติที่สัมพันธ์กันทั้ง 8 ประการ ได้แก่ โภชนาการ, สุขอนามัย, กิจกรรมทางกาย, การพักผ่อน, ความยืดหยุ่นทางอารมณ์, จิตวิญญาณ, ความเป็นอยู่ที่ดีทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม, และ ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินและทางอาชีพ มิติทั้งแปดนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการประเมินสุขภาพของประชากรในทุกเมือง
ในทุกเมืองทั่วโลก การมีวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีโอกาสจำกัด และไม่มีความมั่นคงทางการเงิน นำมาซึ่งการมีโภชนาการที่ไม่ดี การออกกำลังกายไม่เพียงพอ และการพักผ่อนน้อย ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของรูปแบบชีวิตเช่นนี้นั้น คือ การเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีระดับคอเลสเตอรอลสูงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่ป้องกันได้มากมาย
กรอบการทำงานเพื่อสร้างเมืองและชุมชนสุขภาวะดีได้รวมบทเรียนจากโครงการนำร่อง Healthy Cities and Communities ในสามเมืองที่มีความแตกต่างกันมากในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ได้แก่ เจอร์ซีย์ซิตี้และออสติน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และมุมไบ ในประเทศอินเดีย และยังมีข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้นำระดับสูงจาก 35 องค์กร เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ เมืองต่างๆ ไม่สามารถทำงานเพียงลำพังเพื่อสร้างโอกาสการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพดีให้ประชาชนได้
คู่มือ Healthy Cities and Communities Playbook ประกอบด้วย
- Healthy-Living Framework กรอบการทำงานเพื่อช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมืองประเมินเมืองของตนในมิติต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพดี
- Stakeholders’ Toolkit ชุดเครื่องมือเพื่อหาจุดแข็งและศักยภาพของผู้ดำเนินการ ทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันการศึกษา สร้างหุ้นส่วนการทำงานเพื่อส่งเสริมการมีวิถีชีวิตที่เอื้อให้มีสุขภาพดี
- City Pathways กรอบการทำงานที่พัฒนาโดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละเมือง โดยให้แนวทางกว้างๆ เพื่อให้ผู้นำหาจุดเริ่มต้น เข้าใจความท้าทาย และจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการที่จำเป็นในระดับเมือง
เมืองและชุมชนสุขภาวะดี เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- SDG11 การตั้งถิ่นฐานและชุมชนยั่งยืน
ที่มา : World Economic Forum
Last Updated on มิถุนายน 28, 2021