สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของ UN เรียกร้องให้มีการห้ามขาย-ใช้ AI ที่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนเป็นการชั่วคราว

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ออกรายงาน The right to privacy in the digital age พร้อมกับที่ Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (United Nations High Commissioner for Human Rights) ประกาศเตือนภัยคุกคามจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับการควบคุม การใช้อย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีข้อจำกัด และไม่มีความรับผิดชอบ โดยที่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเช่นนี้สามารถเปลี่ยนแปลง กำหนด หรือทำลายชีวิตของมนุษย์ได้ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายขนาดใหญ่และละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างกว้างขวาง

OHCHR จึงเรียกร้องให้มีการห้ามขายและห้ามใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนเป็นการชั่วคราว (moratorium) จนกว่าจะมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันว่าเทคโนโลยีจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยจะต้องถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ด้วยเจตนาเพื่อช่วยเหลือสังคม ตลอดจนจะต้องเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและมาตรฐานการปกป้องข้อมูล

รายงานแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งกับการที่บางประเทศและภาคเอกชนในบางประเทศมักจะเร่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยที่ไม่ได้มีการศึกษา/ตรวจสอบความเสี่ยง หรือคำนึงถึงหลักการตรวจสอบและประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence – HRDD) ทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ โดยที่สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้มีทิศทางในทางที่ดีขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับเป็นไปในทางที่ย่ำแย่ลง

นอกจากความกังวลที่ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถเปลี่ยนแปลง กำหนด หรือทำลายชีวิตของมนุษย์ได้ คำถามหลักยังคงชี้ไปที่ประเด็นการรวบรวม การเก็บ การแลกเปลี่ยน และการวิเคราะห์ข้อมูลของตัวระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอาจจะมีวิธีการที่ไม่โปร่งใสนักก็ได้ กล่าวคือ เป็นไปได้ว่าข้อมูลที่ถูกป้อนและปฏิบัติการโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง ล้าสมัยไปแล้ว เป็นข้อมูลที่ไม่เถรตรง หรือเลือกปฏิบัติ

ตัวอย่างเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและข้อมูลส่วนบุคคล มีอาทิ กรณีที่รัฐบาลในบางประเทศเคยใช้ระบบการให้คะแนนทางสังคม (social scoring systems) หรือคะแนนความประพฤติของประชากร โดยระบบปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในการจัดหมวดหมู่ประเภทของคนตามกลุ่มชาติพันธุ์และเพศสภาพ หรือในกรณีที่ภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และบริษัทเทคโนโลยีมักนิยมนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกไปใช้ในการตรวจจับใบหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการติดตามประชาชนทั้งในระยะใกล้และระยะไกลได้อย่างไม่จำกัด และกระทบกับความเป็นส่วนตัว

โดยที่ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างความผิดพลาดได้มากจากข้อมูลดังที่ยกตัวอย่างมานี้ และบางครั้งกลับถูกนำไปไปในการตัดสินว่าใครควรจะได้รับบริการสาธารณะ ใครควรจะมีโอกาสได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงาน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในสุขภาพ การศึกษา เสรีภาพในการเคลื่อนย้าย เสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสงบ เสรีภาพในการแสดงออก หรือทำให้เกิดกรณีที่ประชาชนอาจถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิประกันทางสังคม ถูกจับกุมเพราะระบบการตรวจจับใบหน้าที่ผิดพลาด ไปจนถึงการกำหนดให้ผู้คนได้เห็นและส่งต่อข้อมูลหนึ่ง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงในโลกออนไลน์ด้วย

และเป็นที่น่าห่วงกังวลว่า ประเด็นด้านข้อมูลโดยระบบปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะมีความเสี่ยงร้ายแรงมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงกลุ่มชนชายขอบ

อย่างไรก็ดี การเรียกร้องห้ามให้มีการขายและการใช้ที่ว่านี้ ได้ย้ำให้มีการประเมินตัวระบบและติดตามผลกระทบของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถระบุความเสี่ยงหรือลดผลกระทบที่จะมีต่อสิทธิมนุษยชนได้ รวมถึงเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องไม่ปกปิดเจตนาเป็นความลับ แต่จะต้องมีความโปร่งใสและมีความรับผิดรับชอบทั้งในกระบวนการพัฒนาอัลกอริทึมและโมเดล และการปฏิบัติการของตัวระบบด้วย

เพราะในอันดับแรกและในท้ายที่สุดแล้ว สิทธิมนุษยชนต้องมาก่อน และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาช่วยเหลือสังคมและให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าโทษ

● อ่านรายงานฉบับเต็ม ที่นี่
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
AI อาจช่วยลดการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน แต่ต้องมาจากความคิดและการควบคุมอัลกอริทึมของมนุษย์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
-(9.5) ในด้านการเพิ่มพูน ยกระดับ และส่งเสริมนวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนาในภาคสาธารณะและภาคเอกชน
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม มีความครอบคลุม ความรับผิดรับชอบ และสถาบันมีประสิทธิผล
-(16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
-(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
-(16.10) หลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
-(16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Urgent action needed over artificial intelligence risks to human rights (UN News)
UN urges moratorium on some AI systems (dw.com)
UN calls for moratorium on AI that threatens human rights (Aljazeera)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น