พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม
อ่าน – ความยั่งยืนในรายงานโลก วันนี้ ชวนคุณมาอ่าน 14 เล่มรายงานที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) แนะนำ ว่าด้วยเรื่องระบบอาหารกับความท้าทาย/ความเสี่ยงนานับประการ ทั้งในมิติการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และหวังว่ารายงานเหล่านี้จะช่วยชี้ทางความรู้และทางไปต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบอาหารมีความยั่งยืนและความสามารถตั้งรับปรับตัวต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงและผันผวนเฉกเช่นในปัจจุบัน
แนวทางการบริหารจัดการวิกฤติ
1. United Nations Common Guidance on Helping Build Resilient Societies
แนวทางสร้างสังคมที่มีความสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่องค์กรภายใต้สหประชาชาติ อาทิ FAO และ UNDP มีร่วมกัน โดยมีรองเลขาธิการเป็นให้การสนับสนุนและผลักดัน ถือเป็นเล่มตำราแนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างบูรณาการทั้งระบบ ภาคส่วน มองเห็นความเสี่ยงและผู้กระทำที่หลากหลาย
เข้าถึง Executive Summary ที่นี่ / เข้าถึงรายงานฉบับเต็ม ที่นี่
2. The impact of disasters and crises on agriculture and food security: 2021
รายงานพาไปดูภัยพิบัติและวิกฤติที่กระทบต่อการเกษตรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต ปศุสัตว์ การป่าไม้ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำ พร้อมกับวิธีการประเมินความเสียหายและความสูญเสียของภาคเกษตรกรรม
เข้าถึงได้ ที่นี่
3. Building agricultural resilience to natural hazard-induced disasters – Insights from country case studies
รายงานแนะนำแนวทางอันเป็นผลลัพธ์ที่ตกผลึกจากกรณีศึกษาของนานาประเทศ ที่รัฐบาลรวมถึงเกษตรกรสามารถนำไปใช้จัดการกับความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติได้ ครอบคลุมมิติการป้องกัน การลดผลกระทบ และการฟื้นฟู
เข้าถึงได้ ที่นี่
4. The State of Food Security and Nutrition in the World 2017 – Building resilience for peace and food security
รายงานย้ำความสำคัญของมิติสันติภาพและสังคมที่สงบสุขที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความขัดแย้ง เป็นสองปัจจัยที่ส่งผลด้านลบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร ทั้งยังบ่มเพาะสถานการณ์ให้กลายเป็นวิกฤติอาหารที่รุนแรง ความอดอยาก ความหิวโหย และภาวะทุพโภชนาการ
เข้าถึงได้ ที่นี่
5. FAO’s work with Small Island Developing States – Transforming food systems, sustaining small islands
FAO ชวนสำรวจดูความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันของรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก และจะทำอย่างไรให้ประเทศเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงระบบอาหารจากรากฐานเพื่อเลี้ยงดูประชากรของหมู่เกาะได้ โดยการนำแผนระดับโลกด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กไปใช้ (Global Action Programme on Food Security and Nutrition in Small Island Developing States – SIDS)
เข้าถึงได้ ที่นี่
6. Agricultural trade & policy responses during the first wave of the COVID-19 pandemic in 2020
รายงานสำรวจดูนโยบาย มาตรการ และรูปแบบการค้าสินค้าเกษตรของประเทศต่าง ๆ ในห้วงขณะการระบาดของโควิด-19
เข้าถึงได้ ที่นี่
7. Digital finance and inclusion in the time of COVID-19: lessons, experiences and proposals
ประสบการณ์และบทเรียนของประเทศที่มีรายได้ต่ำและที่มีรายได้ปานกลางในการเร่งทำให้มาตรการทางการเงินเป็นดิจิทัล อาทิ การชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งเงินกลับบ้านในรูปแบบดิจิทัล ทั้งนี้ โดยการที่ทำให้เป็นดิจิทัล (digitalization) นั้น เป็นการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19
เข้าถึงได้ ที่นี่
8. Small Island Developing States Response to COVID-19: Highlighting food security, nutrition and sustainable food systems
รายงานนี้ได้สำรวจผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อระบบอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการของรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก รวมถึงการใช้มาตรการตอบสนองอย่างรวดเร็ว อาทิ การพยายามทำให้มาตรการหลาย ๆ อย่างของภาคเกษตรกรรมเป็นรูปแบบดิจิทัล เช่น e-commerce และ mobile banking เป็นต้น
เข้าถึงได้ ที่นี่
9. Global Report on Food Crises 2021
รายงานระดับโลกว่าด้วยวิกฤติอาหาร 2564 ระบุว่า อย่างน้อยประชากรโลก 155 ล้านคนประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในปี 2563 และสาเหตุของภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจากความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และอากาศสุดขั้ว (extreme weather)
เข้าถึง Brief ที่นี่ / เข้าถึงรายงานฉบับเต็ม ที่นี่
10. Monitoring food security in countries with conflict situations – A joint FAO/WFP update for the members of the United Nations Security Council – April 2021. Issue no. 8
การติดตามสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่อยู่ในความขัดแย้ง 19 ประเทศและเขตแดน ซึ่งมีประเด็นความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาทิ ไนจีเรียตอนเหนือ ซูดานใต้ บูร์กินาฟาโซ โดยการติดตามดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ FAO และโครงการอาหารโลก (World Food Programme – WFP)
เข้าถึงได้ ที่นี่
การตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilience)
11. Climate resilient practices – Typology and guiding material for climate risk screening
รายงานหยิบยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของภาคเกษตร ซึ่งรวมถึงพืชผล การปศุสัตว์ การป่าไม้ และการประมง กับการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบหรือเป็นแนวทางสำหรับการนำไประบุชี้/ตรวจสอบความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ตอนต้นของการผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้อง
เข้าถึงได้ ที่นี่
12. The State of Food Security and Nutrition in the World 2018 – Building climate resilience for food security and nutrition
รายงานดูปัจจัยที่เป็นบ่อเกิดของความหิวโหยระดับโลกและวิกฤติอาหารที่ร้ายแรง โดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่แทรกตัวอยู่ในทุกมิติปัจจัยที่เกี่ยวข้องและมิติของความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในด้านการทำให้มี (availability) การเข้าถึง (accessibility) การใช้ประโยชน์ (utilization) และการมีเสถียรภาพ (stability)
เข้าถึงได้ ที่นี่
ระบบอาหารกับการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน (Migration)
13. The State of Food and Agriculture 2018 – Migration, agriculture and rural development
อีกหมวดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ของการเคลื่อนย้าย/การโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรกับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ และแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรม โดยรายงานเน้นไปที่การโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชนในชนบทซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว
เข้าถึงได้ ที่นี่
14. FAO Migration Framework – Migration as a choice and an opportunity for rural development
กรอบการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานสำหรับองค์กร FAO เป็นแนวทางทำความเข้าใจว่าการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นทางเลือกและโอกาสของการพัฒนาชนบท และเพื่อให้ FAO ใช้ทำงานด้านการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ อาทิ ในมิติของการประสานงานภายใน และการเสริมพลังทางนโยบาย
เข้าถึงได้ ที่นี่