FAO Food Price Index ดัชนีที่ติดตามราคาสินค้าอาหาร ซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดรายเดือนพฤศจิกายนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ราคาอาหารในโลกพุ่งทะยานขึ้น “สูงที่สุด” ใน 10 ปีนี้นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 โดยเพิ่มขึ้น 3.9% จากเดือนกันยายน 2564 และยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว
ภาพจาก FAO Food Price Index
และส่วนที่ทำให้ภาพรวมราคาอาหารในเดือนนี้เพิ่มสูงขึ้น มาจากดัชนีราคาสินค้าน้ำมันพืชและธัญพืช ซึ่งเป็น 2 ในประเภทสินค้าอาหารที่ FAO ได้ทำดัชนีติดตาม นอกเหนือจากดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นม น้ำตาล และเนื้อ รายละเอียดโดยสังเขป มีดังนี้
- ราคาน้ำมันพืช แพงขึ้น 9.6% ถือว่าราคาอยู่ในระดับสูงเช่นนี้มาโดยเสมอ (all-time high) โดยหลักเป็นผลมาจากการกำหนดราคาน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา เช่นที่ราคาน้ำมันปาล์มยังสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 (ตุลาคม 2564) ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในมาเลเซีย ถึงกระนั้น ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันทานตะวันก็ได้รับการสนับสนุนจากการที่ความต้องการนำเข้าน้ำมันกินได้ (edible oils) เริ่มกลับมาเป็นปกติ
- ราคาธัญพืช เพิ่มขึ้น 3.2% โดยราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บเกี่ยวที่ลดน้อยลงในประเทศส่งออกหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคนาดา รัสเซีย และสหรัฐฯ ขณะที่ราคาของธัญพืชประเภทอื่น ๆ มีราคาแพงขึ้นเช่นกัน อาทิ ราคาข้าวที่แพงขึ้นอีกในเดือนตุลาคม
- ราคาผลิตภัณฑ์นม – เพิ่มขึ้นมา 2 จุด เนื่องจากความต้องการบริโภคเนย นมผงขาดมันเนย และนมผงเต็มไขมัน มีเพิ่มมากขึ้น (เพราะต้องการตุนสินค้า) ส่วนราคาชีสยังคงเท่าเดิม
- ราคาน้ำตาล – จากเดิมที่ราคาน้ำตาลสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน ในเดือนนี้ราคาน้ำตาลลดลง 1.8% เนื่องจากความต้องการระดับโลกที่จำกัดแต่มีการส่งออกมาก
- ราคาเนื้อ – ถือว่ามีราคาที่ถูกลงเป็นเดือนที่ 3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากกระแสการลดการซื้อสินค้าเนื้อหมูในประเทศจีน ราคาเนื้อมีราคาลดลงมากในบราซิล ขณะที่ราคาเนื้อแกะและสัตว์ปีกมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการประมวลผลราคาสินค้าอาหารในภาพรวมนั้น ยังไม่มีข้อมูลดัชนีราคาเนื้อชุดสุดท้าย ทำให้การคำนวณราคาเนื้อประกอบในดัชนีสินค้าอาหาร ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลปัจจุบันที่สุดจากแหล่งข้อมูลอื่น/การสังเกตการณ์ราคาประกอบกัน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการที่ดี เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.c) เลือกใช้มาตรการที่สร้างหลักประกันได้ว่าตลาดโภคภัณฑ์อาหารและตลาดอนุพันธ์ สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของตลาดและข้อมูลสำรองอาหารได้อย่างทันการณ์ เพื่อควบคุมความผันผวนของราคาอาหารอย่างรุนแรง
แหล่งที่มา:
World food prices reach highest level in more than a decade (UN News)
The FAO Food Price Index at its highest since July 2011 (FAO)