เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐนิวยอร์กได้ลงคะแนนรับบทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐ ซึ่งได้เพิ่มเติมมาตรา 19 ในพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิของพลเมือง (Bill of Rights) ระบุว่า ..
“Each person shall have a right to clean air and water, and a healthful environment.” – “บุคคลย่อมมีสิทธิในอากาศและน้ำสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ”
รัฐธรรมนูญรัฐนิวยอร์กมีอำนาจกำหนดโครงสร้างของรัฐบาลของรัฐนิวยอร์กและระบุสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองของรัฐนิวยอร์ก การเห็นชอบผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทำให้รัฐนิวยอร์ก เป็นรัฐที่สามในสหรัฐอเมริกาที่รับรองว่า การปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิที่ไม่สามารถถูกพรากไป หรือยกให้แก่กันได้ (inalienable right) อยู่ในระดับเดียวกับสิทธิที่เป็นรากฐานของเสรีภาพในการเคารพบูชา (freedom of worship) และในการแสดงความคิดเห็ฯ (freedom of speech)
Environmental Rights Amendment (Green Amendment) หรือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ได้รับความเห็นชอบจากผู้ลงคะแนนเสียงทั่วรัฐนิวยอร์กอย่างท่วมท้นถึงเกือบ 70%
การผ่านแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ทำให้พลเมืองนิวยอร์กทุกคนสามารถใช้สิทธินี้เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการผังเมือง สภาเมืองและเทศบาล สมาชิกนิติบัญญัติ และผู้ว่าการรัฐ กำหนดนโยบายตามสิทธิที่พลเมืองและมีการจัดการที่เด็ดขาดต่อผู้ละเมิดสิทธิ เช่น ผู้ปล่อยมลพิษ เป็นต้น รวมทั้งมีข้อคิดเห็นว่า อาจจะนำมาสู่การจ้างงานที่มีคุณค่า เนื่องจากการลงทุนในโครงการน้ำดื่มสะอาด การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำเสีย และการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะที่ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มมาตรา 19 ให้เหตุผลว่า อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามผ่านกระบวนการกฎหมาย เนื่องจากการใช้ภาษาที่ไม่ชัดเจน (vague)
อย่างไรก็ตาม การได้รับความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าพลเมืองนิวยอร์กให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล
- (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
- (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
- (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
ที่มา :
Environmental Rights Amendment Passes in New York (EarthJustice)
What the Right to Clean Air and Water Will Mean for New Yorkers (The River Newsroom)
Boon or Bane? New York’s Environmental Rights Amendment (Farrell Fritz Attorney)
Last Updated on พฤศจิกายน 12, 2021