การศึกษาโดย Boston College ร่วมกับ UN Environment Programme เผยแพร่ในวารสาร Lancet Planetary Health ที่พยายามศึกษาผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนทั่วภูมิภาคแอฟริการาว 1.1 ล้านคนต้องเสียชีวิตไปในปี 2562 โดยในตัวเลขนี้ ราว 70,000 ชีวิตที่สูญไปมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือนหรือจากเตาที่ใช้หุงหาอาหารภายในบ้าน และกว่า 400,000 ชีวิตเป็นผลจาก “มลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร” ที่มีเพิ่มสูงขึ้น และมลพิษทางอากาศนี้เอง เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 ของภูมิภาครองจาก “โรคเอดส์” เพียงเท่านั้น
ไม่เพียงแต่เป็นประเด็นด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของประชากร แต่มลพิษทางอากาศยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา (IQ) ของเด็กในแอฟริกาด้วย
ทำไมปัญหามลพิษทางอากาศถึงสำคัญสำหรับแอฟริกา? เพราะมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในภูมิภาค ติดอันดับที่ 2 รองจากการเสียชีวิตจากโรคเอดส์เพียงเท่านั้น โดยได้คร่าชีวิตไปมากกว่าบุหรี่ แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และการใช้สารเสพติดเสียอีก ในแง่นี้ ทำให้ในสัดส่วนของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ จะพบว่าแอฟริกาติดโผอยู่ด้วยเสมอ
ข้อห่วงกังวลของการศึกษาชิ้นนี้ประการสำคัญ ระบุถึงการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศภายนอกอาคารที่มีสูงขึ้นมากเป็นเหตุ จากการที่ปัจจุบันเมืองหลายแห่งในภูมิภาคแอฟริกากำลังเติบโต โดยคาดว่าตัวเลขของผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในอีก 20 ปี หรือ 30 ปีข้างหน้า ไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรแอฟริกัน 3 เท่าจาก 1.3 พันล้านคนในปี 2563 เป็น 4.3 พันล้านคนภายในปี 2643 อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เมืองที่ขยายขึ้น และสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น
อย่างไรก็ดี พลังงานหลักยังคงเป็นการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล โดยที่มีข้อมูลระบุว่า การเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร ได้คร่าชีวิตของประชากรในปี 2562 ไป คิดเป็นเฉลี่ย 29.15 คนต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มมากขึ้นจากเฉลี่ย 26.13 คนต่อประชากร 100,000 ในปี 2533
การศึกษานี้ยังได้ศึกษาความเชื่อมโยงของผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อประเด็นด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของมนุษย์ใน 54 ประเทศแอฟริกัน โดยเฉพาะการเน้นไปที่ 3 ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในแถบแอฟริกาซับซาอารา ได้แก่ เอธิโอเปีย กานา และรวันดา เพื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบและดูแนวโน้มของสถานการณ์ โดยพบว่าในปัจจุบัน ผลผลิตทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปให้กับโรคภัยและการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ในเอธิโอเปียคิดเป็นเงินราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.16% ของ GDP ประเทศ ในกานาคิดเป็นเงินราว 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 0.95% ของ GDP ประเทศ และในรวันดาคิดเป็นเงินราว 349 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.19 ของ GDP ประเทศ
การศึกษาชิ้นนี้จึงมองว่าการไขปัญหามลพิษทางอากาศจะช่วยไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของมนุษย์ได้ด้วย โดยทิ้งท้ายข้อเสนอแนะการป้องกันมลพิษทางอากาศ ควบคุมและกำหนดอันดับสำคัญของวาระของประเทศ และการสนับสนุนเงินทุนให้สอดคล้องกับวาระดังกล่าว โดยสรุป ดังนี้
- ลงทุนกับพลังงานหมุนเวียน/พลังงานสะอาด โดยใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยลดการพึ่งพาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
- ลดมลพิษที่เกิดจาก/เกี่ยวกับกับการจราจรบนท้องถนน โดยเพิ่มภาษีเชื้อเพลิงและค่าบริการจอดรถ รวมถึงการกำหนดเขตปลอดยานพาหนะและเส้นทางจักรยาน และปรับปรุงการขนส่งสาธารณะ
- ควบคุมการกำจัดขยะของครัวเรือนและบริษัทด้วยการเผาในพื้นที่เปิด ต้องมีข้อกำหนดเรื่องการเผาทางการเกษตรที่หมายรวมถึงการเผาป่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูก
- ปฏิรูปเชิงระบบ เพื่อระบุชี้ถึงสาเหตุปัญหา ควบคุมและติดตามมลพิษทางอากาศทั้งภายในครัวเรือนและภายนอกอาคาร รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบที่จะมีต่อการสาธารณสุข
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
Air pollution’s deadly toll in Africa (Boston College)