“ยาสูบ” เป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปมากกว่า 8 ล้านคนในแต่ละปี ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานี้ นอกจากที่เราจะติดตามการประชุม COP26 แล้ว การประชุม COP อีกการประชุมหนึ่งอย่าง “COP9” ตามกรอบอนุสัญญาการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention for Tobacco Control – WHO FCTC) ครั้งที่ 9 ก็เป็นที่ที่ใช้ติดตามปัญหาการดำเนินการด้าน “การควบคุมการบริโภคยาสูบ” ที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน
หนึ่งในประเด็นเด่นที่ถูกหยิบยกมาหารือถึงความเป็นไปได้คือ การออกกลไกสำหรับการเปิดช่องทางรายได้ใหม่ – การระดมเงินทุนให้เพียงพอ โดยที่มีข้อเสนอให้เพิ่มเป้าหมายการระดมเงินลงทุนที่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากภาครัฐเป็นหลักและโดยการดูแลของธนาคารโลก ทั้งนี้ เพื่อใช้ผลักดันมาตรการควบคุมยาสูบให้สัมฤทธิ์ผลและการลดปริมาณการใช้ยาสูบลง ตามความมุ่งหมายของกรอบอนุสัญญานี้
นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอข้อเสนอทางการเงินที่คล้ายคลึงกันในที่ประชุมของรัฐสมาชิกตามพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย (Meeting of the Parties to the Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products) ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมนี้ด้วย (15 – 18 พฤศจิกายน 2564) โดยคาดว่าข้อเสนอตัวเลขเงินลงทุน จะอยู่ที่ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการผลักดันให้ตามกรอบนี้มีผลบังคับใช้และปฏิบัติจริง
ในรายงานความก้าวหน้าด้านการควบคุมยาสูบระดับโลกล่าสุด ยังเผยให้เห็นความพยายามของรัฐสมาชิกในการใช้มาตรการควบคุมยาสูบตามที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ กล่าวคือ การใช้อนุสัญญาฯ เป็นแนวทาง/เครื่องมือในการออกแบบมาตรการระดับชาติ อาทิ การกำหนดให้บรรจุภัณฑ์มีคำเตือนด้านสุขภาพ หรือ การห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงานและที่สาธารณะ
อย่างไรก็ดี มีรายงานชี้ว่ารัฐสมาชิกเผชิญกับอุปสรรคในการ “แบน” (ban) โฆษณา เป็นต้น เนื่องจากยังคงมีการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอุปสรรคหลักต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญานี้ที่คำนึงถึง “สุขภาพและการสาธารณสุข” เป็นสำคัญ และมองว่ายาสูบเป็นปัญหาของการพัฒนา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.a) เสริมการดำเนินงานของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบในทุกประเทศตามความเหมาะสม
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
The global conference on tobacco control starts today (FCTC)