UNCCD COP สมัยที่ 15 – นานาประเทศยกระดับความร่วมมือต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายผ่าน 38 ความตกลง

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 15 (UN Convention to Combat Desertification: UNCCD COP 15) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 20 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองอาบีจาน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ มีสาระสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาความสามารถในการรู้รับ ปรับตัว และฟื้นคืนกลับจากภัยแล้ง (drought resilience) ลดการเสื่อมสภาพของดิน (land degradation) และลงทุนในการฟื้นฟูสภาพดิน โดยผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมหลายคนเรียกร้องให้มีการทำงานร่วมกันภายใต้อนุสัญญาริโอ (Rio Conventions) พร้อมเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติและข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม 

โดยในการประชุม UNCCD COP 15 ครั้งนี้ ยังได้ตกลงร่วมกันในข้อผูกพันใหม่ ๆ อันประกอบด้วย 

  1. ข้อเรียกร้องอาบิจาน (The Abidjan Call) ที่ร่วมริเริ่มโดยผู้นำรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการเน้นย้ำจุดยืนการสานต่อภารกิจเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 (agenda 2030) โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายย่อยที่ 15.3 การต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม เพื่อบรรลุเป้าหมายความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน (Land Degradation Neutrality: LDN) โดยผลักดันประเทศต่าง ๆ บรรจุวาระเรื่องดินให้เป็นใจกลางของนโยบายการวางแผนเชิงพื้นที่ที่จะเป็นการสร้างรากฐานของระบบนิเวศให้สมบูรณ์และเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของโลก
  2. ปฏิญญาอาบิจานว่าด้วยการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศสำหรับการฟื้นฟูสภาพดิน (Abidjan Declaration on Achieving Gender Equality for Successful Land Restoration) ซึ่งเกิดขึ้นในการประชุมเรื่องเพศ (Gender Caucus)  
  3. ปฏิญญาว่าด้วยดิน ชีวิต และมรดก (Land, Life and Legacy Declaration)  โดยรวมอยู่ใน Abidjan Legacy Programme ที่มีกรอบเวลา 5 ปี และมีมูลค่ากว่า 1.5 พันล้าน ครอบคลุมกระบวนการต่อสู้เพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายผ่านการฟื้นคืนสภาพป่า ด้วยเป้าหมายที่จะฟื้นคืนสู่สภาพเดิม 20% ของป่าสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ภายในทศวรรษนี้ 

นอกจากนี้ หน่วยบริการข่าวสารด้านการเจรจาของสหประชาชาติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือ Earth Negotiations Bulletin (ENB) ยังเน้นย้ำความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องระหว่างการประชุมในอีกสองมิติ ได้แก่ มิติแรก การตระหนักถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิง เด็ก ชนพื้นเมือง รวมถึงชุมชนท้องถิ่นต่อประเด็นการแปรสภาพเป็นทะเลทราย การเสื่อมสภาพของดิน และภัยแล้ง (drought) และอีกมิติคือ การสร้างการเป็นหุ้นส่วนเพื่อยกระดับโครงการลงทุนในภูมิทัศน์แบบบูรณาการขนาดใหญ่ และการให้ความสำคัญรวมถึงการระดมทรัพยากรเพื่อจัดทำข้อริเริ่มที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในทุกรูปแบบและทุกระดับ

โดยสรุป การประชุม UNCCD COP 15 ประจำปี 2565 ล่าสุด ได้ทำข้อตกลง 38 ความตกลง ในประเด็นสำคัญหลายประเด็น อาทิ

  • เร่งให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรมหนึ่งพันล้านเฮกตาร์ภายในปี 2573 ผ่านการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูล การติดตาม และการรายงานผล
  • พัฒนานโยบายระดับชาติและระบบเตือนภัยล่วงหน้า (early warning) การประเมินสถานการณ์และผลกระทบโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทราย พายุฝุ่น และภัยแล้ง
  • ยกระดับความสามารถในการพัฒนาขีดความสามารถ การแบ่งปันความรู้และส่งต่อบทเรียน และการประสานความร่วมมือต่อประเด็นนี้ระดับภูมิภาค
  • สร้างคณะทำงานระหว่างรัฐบาลต่อประเด็นภัยแล้ง (Intergovernmental Working Group on Drought for 2022 – 2024) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการจัดการภัยแล้งจากเดิมที่เป็นการจัดการแบบตั้งรับ (reactive) ไปสู่การจัดการแบบเชิงรุก (proactive) มากขึ้น
  • พัฒนานโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการเกิดขึ้นของพายุทรายและพายุฝุ่นผ่านระบบเตือนภัยล่วงหน้า การประเมินความเสี่ยง รวมถึงลดสาเหตุที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
  • กระชับความร่วมมือในการทำงานร่วมกันภายใต้อนุสัญญาริโอ (Rio Conventions) โดยเฉพาะการเอื้ออำนวยและสนับสนุนระหว่างกันในการนำสนธิสัญญาเหล่านี้ไปปฏิบัติ ผ่านการแก้ปัญหาที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) และการกำหนดเป้าหมายระดับชาติ
  • ส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และกลุ่มเยาวชนในการทำงานและการประชุมภายใต้ภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย

เข้าถึงรายงานสรุป UNCCD COP 15  ได้ที่นี่

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
นักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิฯ เรียกร้องให้ “30×30” ในกรอบ COP15 ใช้แนวทางสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง
ILO และ IUCN ลงนาม MOU เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและการพึ่งพากันระหว่างงานและธรรมชาติ
Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติอื่น ๆ และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงการเป็นเจ้าของที่ดิน การควบคุมที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
#SDG15 ระบบนิเวศบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
– (15.3) ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี

แหล่งที่มา:
COP 15 Promotes Synergies Among Rio Conventions to Support UNCCD’s Mission (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 30, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น