กลางเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เผยแพร่เอกสารแสดงจุดยืน (position paper) ที่ระบุถึงคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV (Human Papilloma Virus) ฉบับปรับปรุงล่าสุด โดยมีรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มเดียว ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกและรายละเอียดของการใช้วัคซีนนอกข้อบ่งใช้แบบเข็มเดียว (off-label single-dose) ที่มีประสิทธิภาพและทนทานในการป้องกันเทียบเคียงกับการฉีดวัคซีนสองเข็ม
เอกสารแสดงจุดยืนดังกล่าวเผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะกับสถานการณ์การฉีดวัคซีน HPV ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างน่ากังวล โดยระหว่างปี 2562 – 2564 ความครอบคลุมในการฉีดวัคซีน HPV เข็มแรกลดลงจาก 25% เหลือเพียง 15% นั่นหมายความว่าผู้หญิงกว่า 3.5 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักการฉีดวัคซีน HPV คือเด็กหญิงอายุ 9-14 ปี ก่อนเริ่มร่วมกิจกรรมทางเพศครั้งแรก ขณะที่กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ เด็กชายและผู้หญิงที่มีอายุสูงขึ้นไป หากสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพง
ความคาดหวังของการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการฉีดวัคซีน HPV ดังกล่าว มุ่งไปที่การช่วยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีน HPV ได้มากขึ้น พร้อมทั้งช่วยแบ่งเบาภาระของการฉีดวัคซีนต่อเนื่องกันหลายเข็มซึ่งเดิมมีความยุ่งยากซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเสริมสร้างประสิทธิภาพของโปรแกรมการฉีดวัคซีน HPV ให้ดียิ่งขึ้น และสามารถเร่งรัดให้การฉีดวัคซีน HPV เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมมากขึ้น
คำแนะนำล่าสุดของการฉีดวัคซีน HPV จากองค์การอนามัยโลก ได้แก่
- ควรจัดให้มีการฉีดวัคซีนหนึ่งหรือสองโดสสำหรับเด็กหญิงอายุ 9-14 ปี
- ควรจัดให้มีการฉีดวัคซีนหนึ่งหรือสองโดสสำหรับผู้หญิงอายุ 15-20 ปี
- ควรจัดให้มีการฉีดวัคซีนสองโดสโดยเว้นช่วงห่าง 6 เดือนสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 21 ปี
นอกจากนี้ เอกสารแสดงจุดยืนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน HPV อย่างน้อย 2 หรือ 3 โดส สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ในผู้หญิงทั่วโลก และมากกว่า 95% ของการเป็นโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อ HPV ที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่ในไทยเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ดังนั้น “วัคซีน HPV” ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งวัคซีนสำคัญที่เด็กหญิง ผู้หญิง และผู้ชายทั่วไปควรได้รับในราคาที่เข้าถึงได้เนื่องจากจะสามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการและป้องกันการเสียชีวิตได้หากเป็นมะเร็งปากมดลูก
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | จาก ‘มะนาวโซดาแก้มะเร็ง’ ถึง ‘ครีมฝาแดงขาวไวในเจ็ดวัน’ – Health Literacy สัมพันธ์อย่างไรต่อการบรรลุ SDGs –
– World Cancer Day 2021 – มะเร็งเต้านม แซงหน้ามะเร็งปอดขึ้นอันดับหนึ่ง มะเร็งที่ตรวจพบมากที่สุด
– สารก่อมะเร็ง PAHs มากกว่า 100 ชนิดถูกปล่อยสู่อากาศในทุกวัน แต่ส่วนมากยังไม่มีการกำกับดูแล – นับเป็นความเสี่ยงต่อโรค
– แก้ปัญหาแบบ “2-in-1” : การวิจัยยาที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อ HIV
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
แหล่งที่มา: WHO updates recommendations on HPV vaccination schedule (WHO)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กุมภาพันธ์ 9, 2023